Knowledge

EDUCA ขับเคลื่อนโรงเรียนในไทย นำแนวคิด SLC ไปใช้ ตั้งเป้าสร้างคุณภาพและโอกาสที่เท่าเทียมแก่นักเรียนทุกคน

EDUCA ขับเคลื่อนโรงเรียนในไทย นำแนวคิด SLC ไปใช้ ตั้งเป้าสร้างคุณภาพและโอกาสที่เท่าเทียมแก่นักเรียนทุกคน

 4 years ago 4855

หากเอ่ยถึงแนวคิด SLC (School as Learning Community) หรือ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เพราะปัจจุบันแนวคิดนี้ ได้ขยายเครือข่ายจากจุดเริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่นไปสู่ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เม็กซิโก และไทย รวมถึงเกิดเป็นเครือข่ายนานาชาติภายใต้ชื่อ “The International Network for School as Learning Community” โดย SLC เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ ปรัชญา และระบบกิจกรรมที่เด็ก ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ตลอดเวลา เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม

อ.มาซาอากิ ซาโต อดีตครูใหญ่โรงเรียนประถมฮิโรมิ และโรงเรียนมัธยมต้นกักคุโย เมืองฟูจิ จังหวัด ชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน SLC กล่าวว่า หลักการสำคัญของแนวคิด SLC คือทำให้ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้อย่างดีที่สุดผ่านปรัชญาทางการศึกษา 3 ด้าน คือ
1) Public Philosophy ปรัชญาว่าด้วยส่วนรวมและความเป็นสาธารณะ ห้องเรียนและโรงเรียนคือพื้นที่ในการเรียนรู้ของทุกคน โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพียงฝ่ายเดียว
2) Democracy Philosophy ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย เป็นการใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นอย่างเคารพ รับฟังเสียงของทุกคน และไม่ทอดทิ้งใครให้อยู่เพียงลำพังในห้องเรียน
3) Excellence Philosophy ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ เพราะเด็กทุกคนมีความแตกต่างกันกัน ดังนั้น พวกเขามีสิทธิพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางของตัวเอง

“การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้จะดำเนินการอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แล้วนำไปสอนจริงในห้องเรียน พร้อมทั้งเปิดห้องเรียนให้เพื่อนครู ผู้อำนวยการ ได้เข้ามาสังเกตการณ์ด้วยการบันทึกผ่านเอกสารหรือวิดีโอ หลังจากนั้น ครูผู้สอนและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จะมาพูดคุยกันเพื่อสะท้อนกลับถึงวิธีการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนว่าเป็นอย่างไรเมื่อครูจัดการเรียนการสอนในคาบดังกล่าว โดยครูนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งครูต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง ไม่ละเลยนักเรียนคนใดให้อยู่เพียงลำพัง หรือไม่มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ในชั้นเรียน”

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งที่เริ่มนำแนวคิด SLC เข้าไปใช้ ผ่านการขับเคลื่อนของ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน “มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA)” ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum) โดยหนึ่งในโรงเรียนที่เห็นผลลัพธ์แล้วคือ โรงเรียน วัดใหม่กระทุ่มล้ม ที่อยู่ในเขตหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครู 10 คน และนักเรียน 143 คน จำนวนนี้มีเด็กเรียนร่วม หรือนักเรียนที่เรียนช้า และสมาธิสั้น 17 คน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้แบบ SLC ได้เป็นอย่างดี และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียนอย่างชัดเจน

อ.เพียงจิต สีดาสมุทร์

อ.เพียงจิต สีดาสมุทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้ม ให้ข้อมูลว่า เดิมการสอนของครูเป็นแบบทางเดียว ไม่ใช่การสื่อสารสองทาง ทำให้นักเรียนไม่มีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนเท่าที่ควร แต่เมื่อนำแนวคิด SLC มาใช้นั้น ครูทุกคนได้ปรับวิธีการสอนใหม่ทั้งหมด โดยเน้นการทำกิจกรรมที่ให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ ส่งผลให้บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนดีขึ้น และอัตราการขาดเรียนของนักเรียนลดลง ขณะเดียวกัน ได้กำหนดให้การเปิดห้องเรียนเป็นกิจกรรมสะท้อนคิดภายในโรงเรียน เพื่อให้ครูทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสอนระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน

นอกจากนั้น ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิดผ่านการเข้ามาร่วมสังเกตการณ์สอนในชั้นเรียน โดยได้เห็นว่ากระบวนการสอนและการดูแลเด็กของครูเป็นอย่างไร แล้วสะท้อนมุมมองให้ครูฟังผ่านการประชุมกลุ่มว่าเขาเห็นลูกหลานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องการให้ครูเพิ่มเติมวิธีการสอนในด้านใดบ้าง

“โรงเรียนของเราใช้แนวคิด SLC ในการพัฒนาโรงเรียนมาแล้ว 1 ปีการศึกษา และดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ครูใส่ใจและมีความละเอียดในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้มากขึ้น มีความพลิกแพลงหรือคิดค้นสื่อการสอนที่หลากหลาย ให้ความสำคัญกับการให้นักเรียนมีส่วนร่วมชั้นเรียน ส่งผลให้สามารถพัฒนานักเรียนเป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนก็สนุกกับการเรียน ชอบทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ กล้าพูด กล้าแสดงออก และช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนตามไม่ทัน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราวางนโยบายให้เป็นโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ เมื่อหลายฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมก็ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น”

ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์

ขณะที่ ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปิโกให้ความสำคัญและดำเนินงานเรื่องโรงเรียนแนวคิด SLC มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปฏิรูปการศึกษาไทยได้ โดยที่ผ่านมาปิโกได้จัดงาน SLC Symposium รวมถึงแปลและตีพิมพ์หนังสือด้าน SLC หลายเล่ม เช่น หนังสือเรียนรู้จากข้อเท็จจริงของเด็กและห้องเรียน: การปฏิรูปโรงเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้และการไตร่ตรอง และหนังสือการปฏิรูปโรงเรียน แนวความคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ กับการนำทฤษฎีมาปฏิบัติจริง ตลอดจนยังเคยนำเรื่อง SLC มาเป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน EDUCA อีกด้วย

“ในส่วนของโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้มเป็นตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนที่สามารถจัดการเรียนรู้แบบ SLC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแหล่งศึกษาดูงาน (School Visit) ของนักการศึกษาจากทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ SLC ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้งาน EDUCA 2019 ในเดือนตุลาคมนี้”



TAG: #Slc #Schoolaslearningcommunity #โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้