Knowledge

เถียงกันสิดี เมื่อทักษะการประนีประนอมในเด็กพัฒนาได้ด้วยการปล่อยให้เถียงกัน

เถียงกันสิดี เมื่อทักษะการประนีประนอมในเด็กพัฒนาได้ด้วยการปล่อยให้เถียงกัน

 3 years ago 1961

แปลและเรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์

          การเล่นคืองานของเด็กทุกคนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ แม้จะไม่มีของเล่นเลยสักชิ้น แต่เด็กๆ ก็สามารถเล่นคนเดียว เล่นบทบาทสมมติกับเพื่อนๆ สมมติตัวเองเป็นคนอาชีพต่างๆ สัตว์หลากหลายชนิดได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
          มิตรภาพคือสิ่งที่เด็กๆ ได้รับจากการเล่นกับเพื่อน ซึ่งมิตรภาพนี้เองช่วยเสริมสร้างความเคารพในตัวเอง ความสามารถทางสังคม และความมั่นใจของเด็กๆ เมื่อพวกเขาเล่นกับเพื่อน เขาเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และยังได้พัฒนาทักษะที่สำคัญต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งปัน ความร่วมมือกัน การสื่อสารด้วยวัจนภาษา และอวัจนภาษา แต่ในขณะเดียวกันการเล่นของพวกเขาอาจทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราปวดหัวขึ้นได้ หากเด็กเกิดการโต้เถียงกัน หรือเริ่มจะตะโกนใส่กัน
          แม้จะดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่ต้องรีบเข้าไปจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปห้ามหรือชี้แนะ แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง การโต้เถียงกันของเด็กๆ โดยเฉพาะขณะที่กำลังเล่นบทบาทสมมมติกันอยู่นั้นมีอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่ จนผู้ใหญ่อาจแทบไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เด็กๆ ได้ทักษะอย่างหนึ่งที่โลกยุคใหม่ต้องการอย่างมาก นั่นก็คือ การประนีประนอม เพราะเมื่อไรที่เด็กเริ่มโต้เถียงกันขณะเล่น แสดงว่าพวกเขากำลังใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างข้อตกลงกับเพื่อนๆ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะใช้ความประนีประนอมเพื่อให้การเล่นยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้จะไม่เห็นด้วยหรือลงรอยกัน 100% ก็ตาม
          การเล่นบทบาทสมมติที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การเล่นที่ครูกำกับขึ้นในชั้นเรียน แต่เป็นการเล่นที่เด็กๆ กำกับเอง ชักชวนกันเล่นเองอย่างเป็นธรรมชาติ หน้าที่ของครูจึงเป็นการสนับสนุนพวกเขาทั้งเรื่องเวลา และพื้นที่ แล้วปล่อยให้ผู้กำกับ และนักแสดงตัวน้อยได้ใช้จินตนาการไปกับการเล่นกันอย่างเต็มที่
          ในชีวิตจริงของผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการเล่นของเด็กๆ เลย ที่มีทะเลาะกันบ้าง เถียงกันบ้าง จนบางครั้งก็นำมาสู่การลงไม้ลงมือกัน ฉะนั้น เมื่อไรที่เราเริ่มได้ยินเด็กๆ โต้เถียงกัน ให้เราลองสังเกตดูห่างๆ ให้โอกาสพวกเขาได้งัดเอาทักษะต่างๆ ออกมาใช้เพื่อสร้างข้อตกลงกับเพื่อนๆ เรียนรู้และฝึกฝนให้เป็นคนรู้จักการประนีประนอมท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะในชีวิตจริงเมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น พวกเขาไม่มีทางหลีกเลี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งไปได้เลย แต่ทักษะเหล่านี้จะเป็นเสมือนอาวุธที่ทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น

อ้างอิง
Hobson, T. (2021, January 05). The building blocks of dramatic play. Retrieved February 17, 2021, from https://www.edutopia.org/article/building-blocks-dramatic-play

Benefits of playing with friends. (2020, March 04). Retrieved February 19, 2021, from https://www.kidstuff.com.au/blog/-benefits-of-playing-with-friends/


TAG: #บทบาทสมมติ #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #ทักษะการสื่อสาร #พัฒนาทักษะ #ทักษะการประนีประนอม