Knowledge

สร้างโอกาสเพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักตนเอง: ความเป็นครู ในแบบฉบับของ ครูทอม คำไทย

สร้างโอกาสเพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักตนเอง: ความเป็นครู ในแบบฉบับของ ครูทอม คำไทย

 4 years ago 4575

เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

จักรกฤต โยมพยอม หรือ ‘ครูทอม คำไทย’ อาจจะไม่ใช่ครูประจำโรงเรียน แต่หากได้สัมผัสกับตัวตนของเขาจะพบว่า ครูทอมเป็นครูที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่ง ‘ความเป็นครู’ ลีลาการสอนภาษาไทยที่ผสมผสานมุกตลกและลูกเล่นอันแพรวพราวทำให้ทุกห้องเรียนที่มีครูทอมอยู่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ด้วยคาแรกเตอร์ที่สนุกสนานของเขา ทำให้เด็กๆ สนิทสนมและไว้วางใจครูทอมได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ครูหลายท่านอาจมีโอกาสได้พบเขาจากการจัดติวของโรงเรียน ขณะที่คนทั่วไปอาจคุ้นหน้าเขาจากบทบาทของดารา พิธีกร ที่คอยสร้างความเข้าใจต่อการใช้ภาษาไทยตามสื่อและโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่นำ EDUCA มาพบครูทอมก็คือ โครงการล่าสุดที่เขามีบทบาทหลักในการเป็น ‘ครูอาสา’ ที่ตระเวนไปตามโรงเรียนในชนบท โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งหวังตั้งใจว่าอยากจะทำให้การศึกษาไทยมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น บทสัมภาษณ์นี้จะสะท้อนให้เห็นว่า อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ติวเตอร์ภาษาไทยคนหนึ่งลุกขึ้นมาทำในสิ่งเหล่านี้ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากลงพื้นที่ไปพบกับเด็กๆ ที่ในชีวิตไม่เคยได้รับโอกาสเทียบเท่ากับเด็กที่อยู่ในเมือง

ในความคิดของครูทอม ‘ความเป็นครู’ ควรมีสิ่งใดเป็นสำคัญ

สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ครูควรจะมีก็คือ ‘ความรู้’ บวกกับ ‘ความเข้าใจเด็ก’ แน่นอนว่าคนเป็นครูทุกคนย่อมมีความรู้อยู่แล้ว แต่ต้องมีความเข้าใจเด็กด้วย อย่ายึดติดว่า เด็กสมัยนี้จะต้องเป็นเหมือนสมัยก่อน ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ครูควรจะตามให้ทันว่าเด็กสนใจอะไร ชอบอะไร อย่างสมัยก่อนคนอาจจะอ่านหนังสือกันเยอะกว่าสมัยนี้ เพราะว่าไม่ค่อยมีสื่ออะไร แต่สมัยนี้อ่านออนไลน์ก็ได้ หรือแม้กระทั่งการเล่นเกมที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องเสียหาย อย่างผมเองก็ชอบเล่นเกมเหมือนกัน ถ้าเรามาดูดีๆ จะพบว่า เกมมันมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าทำให้เด็กได้เจอคำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ เยอะมาก ครูก็ควรจะเข้าใจ ตามเด็กให้ทันแล้วก็รู้ว่าอะไรที่เด็กกำลังสนใจ

อย่างผมเองที่ชอบภาษาไทยเพราะว่าได้เจอครูภาษาไทยที่ใจดี เวลาว่างถ้าไม่เข้าห้องสมุดก็จะชอบเข้าไปนั่งเล่นในห้องครูภาษาไทย คุยเล่นเรื่อยเปื่อยกับครู จำได้ว่าตอนเข้า ม.1 โชคดีได้เจอครูภาษาไทยใจดีสอนสนุกก็เลยชอบเรียน แล้วพอขึ้น ม.2 ม.3 ก็ได้เจอแต่ครูใจดี ซึ่งครูที่เราได้เจอก็ถือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรากลายเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ความเป็นครู

อะไรคือเหตุผลที่ผลักดันให้ครูทอมลุกขึ้นมาทำโครงการติวเตอร์อาสา

จุดเริ่มต้นก็มาจากประสบการณ์ที่เราเคยไปสอนตามโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ไปรู้จักกับ ครูผึ้ง (อมราภรณ์ ขุนแผ้ว) ซึ่งเป็นคุณครูแนะแนวอยู่ที่โรงเรียนนราธิวาสที่ติดต่อมาให้เราไปติว ตั้งแต่ตอนไปครั้งแรกก็รู้สึกแล้วแหละว่าชอบความเป็นนราธิวาสจังเลย รู้สึกว่าเมืองน่าอยู่ ทุกคนน่ารัก สถานที่ท่องเที่ยวก็ดีงามเหลือเกิน พอไปบ่อยเข้าก็เห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยมีติวเตอร์หรืออาจารย์พิเศษเข้าไปในพื้นที่สักเท่าไหร่

จากการที่เราเป็นติวเตอร์ไปตามโรงเรียนต่างๆ มาร่วม 10 ปี สิ่งที่สังเกตเห็นคือ โรงเรียนเล็กๆ จะไม่ค่อยมีงบประมาณพอที่จะจ้างวิทยากรเข้าไปติว นี่เลยเป็นจุดที่ทำให้เริ่มคิดทำโครงการติวในโรงเรียนชนบท ซึ่งไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่อยากเกิดขึ้นกับโรงเรียนชนบททั่วประเทศเลย โครงการนี้ไม่มีชื่อเรียก เพราะเป็นโครงการที่ผมทำเอง จัดกันเองในก๊วนเพื่อนติวเตอร์ด้วยกัน ซึ่งบางโครงการก็มีออกเงินเองบ้าง มีเพื่อนๆ ร่วมสมทบทุนมาบ้าง หรือบางโครงการก็ได้สปอนเซอร์จากเอกชนมาซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายให้

อยากให้ลองเล่าถึงหน้าตาของโรงเรียนชนบทที่คุณเคยไปมาหรือคิดอยากไปในอนาคต

ก็เป็นโรงเรียนพวกที่อยู่ตามอำเภอรอบนอก หรืออยู่ตามหลืบต่างๆ เลยครับ อย่างปีที่แล้วก็มีไปกันที่โรงเรียนหนองบัวระเหววิทยาคาร จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนบ้านเขว้าวิทยา จังหวัดนครราชสีมา แล้วก็อีกหลายโรงเรียนในจังหวัดน่าน ซึ่งเวลาเราไปทั้งที ก็อยากจะให้เกิดประโยชน์กับคนมากที่สุด ไม่ใช่แค่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง เราก็จะขอให้โรงเรียนที่เราติดต่อไปช่วยเป็นเจ้าภาพ เอื้อเฟื้อสถานที่โดยให้เด็กๆ โรงเรียนอื่นมาร่วมเรียนด้วยกัน

ประสบการณ์เวลาสอน ‘เด็กในเมือง’ กับ ‘เด็กชนบท’ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ต่างกันมาก อย่างเด็กโรงเรียนในเมืองส่วนใหญ่เวลาเราเข้าไปติว เขาจะรู้อยู่แล้วว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องได้ เพราะโรงเรียนจะจัดสรรงบประมาณตรงนี้เอาไว้อยู่แล้ว แต่เด็กในโรงเรียนเล็กๆ ตามชนบทที่เราเคยไปสอนมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขาไม่เคยมีครูพิเศษเข้าไปที่โรงเรียนมาก่อนเลย เด็กๆ ก็ไม่เคยได้รับการติวแบบนี้ เนื่องจากไม่มีเงินจ้าง แล้วเวลาเราไปสอนแต่ละครั้งจึงสัมผัสได้ถึงความตั้งใจเรียนของเด็กๆ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นโอกาสพิเศษเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่เขาจะได้รับ

ในการสอนแต่ละครั้ง ครูทอมมีวิธีการเตรียมเนื้อหาไปอย่างไรบ้าง

เนื้อหาส่วนใหญ่ที่สอนก็จะเน้นเป็นการติวโอเน็ต หรือว่าพวกข้อสอบ GAT เพื่อการเตรียมตัวสอบทั้งหลาย ซึ่งแม้ลึกๆ เราจะรู้สึกว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการสอนเพื่อไปสอบเท่านั้น แต่ในเมื่อระบบการศึกษาไทยทำให้เด็กยังคงต้องสอบแข่งขันกันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เด็กก็ควรได้ติว เพราะว่าเด็กในเมืองส่วนใหญ่ก็มีโอกาสได้ติวทั้งนั้น แต่ถึงแม้เนื้อหาจะเป็นการติวเพื่อสอบแต่เวลาไปสอนแต่ละครั้ง เราก็ไม่ได้เน้นว่าเด็กทุกคนจะต้องได้รับความรู้จนแน่นเอียดนะครับ แต่เราพยายามจะสอดแทรกอย่างอื่นให้เด็กๆ ด้วย เพื่อให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เรียนไปสามารถเอาไปใช้ต่อยอดในชีวิตจริงได้ คือเราจะไม่ทำให้เด็กเห็นแค่ว่า เรียนๆ ไปเพื่อใช้ในการสอบเท่านั้น

การที่เราเข้าไปติวแบบนี้มันไม่ได้หมายความว่าเราดีกว่าครูที่อยู่ในโรงเรียน มันก็เหมือนลางเนื้อชอบลางยานะ คือเนื้อหาแบบนี้ใช้วิธีการแบบนี้ เด็กคนนี้อาจจะเข้าใจ แต่อีกคนอาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้นการมีครูพิเศษเข้าไปก็เหมือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งทำให้เด็กมีโอกาสในการเลือกหลากหลายขึ้นมากกว่า

ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นครูประจำโรงเรียน ทำให้เราอาจจะไม่ได้คลุกคลีอยู่กับเด็กมากเท่ากับครูที่เขาอยู่ในโรงเรียน แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือเวลาว่างที่จะเอื้อให้ทำงานอาสาได้ง่ายและคล่องตัวกว่า และสิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของเราก็คือ ถึงแม้จะเป็นติวเตอร์แต่เราจะไม่เปิดสถาบันสอนพิเศษของตัวเองเพื่อให้เด็กจ่ายเงินเข้ามาติว แต่เราอยากจะตระเวนไปติวให้เด็กในโรงเรียนต่างๆ ตามแต่โรงเรียนจะเรียกหรือโครงการต่างๆ สนับสนุนให้ไป เพราะอยากให้เด็กทุกๆ คนมีโอกาสเท่าๆ กับที่เพื่อนคนอื่นๆ มี ซึ่งโครงการติวเตอร์อาสาของเราก็พยายามจะตอบโจทย์นี้ให้ได้

บรรยากาศที่พบในห้องเรียนระหว่าง 10 นาทีแรกกับท้ายชั่วโมง หลังจากที่เราเข้าไปสอนแตกต่างกันมั้ย

แน่นอนว่าเมื่อเด็กเจอเราครั้งแรกมันก็จะเป็นความรู้สึกในทำนองที่ว่า หลายๆ คนเขาอาจจะเคยเห็นหน้าเราจากทีวีหรือสื่อต่างๆ มาก่อน หรือครูในโรงเรียนพอรู้ว่าเราจะเข้าไปที่โรงเรียนเขา ครูก็จะเปิดคลิปให้เด็กๆ ดูแล้วว่าเราเป็นใคร ทำอะไรมาบ้าง เด็กจึงมักจะคิดว่า เฮ้ย คนที่มีชื่อเสียงคนนี้จะมาหาเราจริงๆ เหรอ ช่วงแรกที่สอน เด็กจึงยังเหมือนกับอึ้งหรือว่าเกร็งอยู่ เหมือนกับว่าวางตัวไม่ถูกว่าต้องทำอย่างไร เราก็ต้องละลายพฤติกรรมของเขาก่อน ทำให้เด็กรู้สึกว่า ถึงแม้ว่าเราจะออกทีวีบ้างแต่เราก็เป็นคนเหมือนกันนะ พยายามทำให้เขาวางใจที่จะถามไถ่หรือพูดคุย เด็กบางคนอาจจะมองว่า เขาเป็นเด็ก เราเป็นผู้ใหญ่ แต่สำหรับเรา คุณไม่ต้องเลย เรามาแบบ โอ้โห สนุกสนานเต็มที่ เป็นกันเองสุดๆ ไม่ต้องเขินอาย ทำให้เด็กกล้าพูดคุย กล้าเล่นกับเรามากขึ้น

ความเป็นครู

ครูบางคนอาจไม่ได้มีลีลาการสอนที่สามารถเอนเตอร์เทนให้เด็กๆ หัวเราะ ห้องเรียนของเขาก็คงไม่ได้สนุกสนานเท่าห้องเรียนของครูทอม ครูเหล่านี้เขาคงไม่มั่นใจในการออกไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ

จริงๆ แล้วนี่คือสิ่งที่ผมมักจะคิดและอยากจะพูดกับหลายๆ คนเลย ปัจจุบันเด็กมักมองว่าครูที่สอนเก่งต้องเป็นครูที่ตลกเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่ ตลกไม่ได้แปลว่าสอนเก่ง แต่สิ่งสำคัญคือเนื้อหาต้องถูกต้องเหมาะสมก่อน ซึ่งนั่นคือจุดเด่นของครูประจำในโรงเรียน ตรงนี้ก็อยากจะสร้างความเข้าใจกับเด็ก ให้เขาเปิดใจพร้อมรับวิทยากรทุกคน เพียงแต่ว่าความสนุกของคนสอนอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงให้เด็กอยู่กับเราได้ตลอด เพราะอย่าลืมว่า เราไปสอนในสิ่งที่เป็นวิชาการ เด็กโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ชอบความเป็นวิชาการจ๋า ลองนึกถึงตอนที่เราเองเป็นเด็ก เราก็ชอบอะไรที่มันสนุกๆ เหมือนกัน นี่คือแนวคิดและวิธีการของผม ขณะที่ครูท่านอื่นก็คงมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง อย่างน้อยการที่เขาอุทิศตัวเข้าไปสอนมันก็มีประโยชน์และดีในแง่ที่ว่า เราสามารถสร้างหลากหลายวิธีการให้เด็กๆ สามารถเลือกได้

นอกจากติวภาษาไทยในชั้นเรียนแล้ว EDUCA ได้ข่าวมาว่าครูทอมยังจัดโครงการพาเด็กๆ ไปเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย

ใช่ครับ ล่าสุดก็เป็นโครงการที่ร่วมกับครูโรงเรียนนราธิวาสที่เราได้เข้าไปสอน คือโครงการที่เราอาสาพาเด็กมาทัศนศึกษาที่กรุงเทพฯ เริ่มจากความที่ว่าเมื่อเราไปสอนที่นราธิวาสบ่อยๆ ก็เริ่มเห็นปัญหาอย่างหนึ่งคือ หลังจากเกิดปัญหาความรุนแรงก็จะมีเด็กที่ไม่มีความสุขกับชีวิตเพราะกำพร้าพ่อแม่ เพราะโดยปกติในช่วงปิดเทอม ครอบครัวที่มีครบพ่อแม่ลูก เด็กๆ ก็จะมีคนพาไปเที่ยวเล่น เรียนรู้อะไรที่นอกเหนือจากบทเรียน แต่เด็กที่เป็นกำพร้าไม่มีโอกาสจะได้ออกไปแบบนั้นบ้าง เราก็เลยคุยกับครูที่นั่นเรื่องการทำโครงการพาน้องที่มาจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงมาทัศนศึกษา งบประมาณส่วนหนึ่งก็มาจากไปเล่นเกมโชว์ที่เปิดโอกาสให้เราเอาเงินรางวัลมาจัดกิจกรรมการกุศล แล้วก็มีเพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จักกันร่วมสมทบทุนมาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ครูทอมได้พาเด็กๆ ไปที่ไหนมาบ้าง แล้วบรรยากาศของการทัศนศึกษาเป็นอย่างไร

ตอนนั้นมีเวลาอยู่ 4 วัน 3 คืน เราก็ตั้งใจไว้แล้วว่าอยากพาเขาไปเที่ยวในสถานที่ที่ถ้าเขามากรุงเทพฯ แล้วก็ไม่น่าจะมีโอกาสได้ไป เลยนึกถึงอะไรที่มันค่อนข้างจะเอ็กซ์คลูซีฟหน่อย แต่จะทำอย่างไรให้โครงการมันเกิดขึ้นได้โดยที่ตัวเราเองก็ยังซัพพอร์ตไหว ด้วยความที่เราทำงานในวงการบันเทิงด้วย เราก็มีคอนเน็กชันอยู่บ้าง รู้จักกับพี่ที่ทำงานในสายการบินแห่งหนึ่ง พอไปชวนเขาก็เลยสนับสนุนตั๋วเครื่องบินมาให้ แล้วก็มีรุ่นพี่จากโรงเรียนนราธิวาสสมทบทุนมาด้วย ส่วนผมเองก็รับผิดชอบค่ากินอยู่ทุกอย่างที่กรุงเทพฯ

วันแรกก็ไปทัศนศึกษาแถวไปรษณีย์กลางบางรัก เสร็จแล้วก็พาไปล่องเรือเจ้าพระยาครุยส์ เนื่องจากเราไปมาแล้วชอบ เห็นว่าบรรยากาศดีด้วย ก็เลยอยากให้เด็กๆ ได้ลองล่องเรือชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง ซึ่งพี่อั๋น (ภูวนาท คุนผลิน) ก็อนุเคราะห์มาให้ฟรีหมดเลย ส่วนอีกวันก็พาไปที่นิทรรศรัตนโกสินทร์ วัดพระแก้ว พระบรมหาราชวัง ไปกันหลายที่ ส่วนอีกโปรแกรมหนึ่งก็มาจากความชอบส่วนตัวของเรา เพราะเราเป็นคนชอบดูหนัง ก็มักจะมีค่ายหนังชวนไปดูหนังรอบสื่อบ่อยๆ ด้วยความที่นราธิวาสไม่มีโรงหนังเลย เราก็มาคิดว่าถ้าเด็กๆ ได้ดูหนังด้วยก็คงจะดีไม่น้อย ก็ติดต่อทางค่ายหนังไปว่าอยากให้เด็กๆ ได้ดูหนังบ้าง เขาก็จัดการให้เป็นอย่างดี ประสานกับสยามพารากอนจนได้ที่นั่งวีไอพีให้เด็กๆ ได้ไปดูภาพยนตร์เรื่อง 9 ศาสตรากัน เด็กก็ชอบมาก มาบอกเราว่าเขาไม่เคยเข้าโรงหนัง ไม่เคยเห็นโรงหนังมาก่อน

พอฟังครูทอมเล่าแล้ว EDUCA คิดว่าต้องเป็นการทัศนศึกษาที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขแน่ๆ

เด็กหลายคนพูดไปน้ำตาไหลไป เหมือนกับว่า เราเปิดโอกาสให้เขาได้เจอสิ่งที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน บางคนบอกว่านี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตด้วยซ้ำที่น้องจะได้มากรุงเทพฯ จำได้ว่าตอนระหว่างล่องเรือกันอยู่ น้องคนหนึ่งบอกกับผมว่า อยากให้คุณพ่อคุณแม่มาด้วย แต่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว พอได้ยินอย่างนั้น เราสะเทือนใจมากนะ แล้วก็รู้สึกว่าเราอยากจะทำโครงการนี้ต่อไป ครั้งหน้าอาจจะไปจัดโครงการร่วมกับเด็กในพื้นที่ชนบทอื่นๆ

โอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตครั้งไหนที่สำคัญที่สุด หรือมีผลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา

อืม…คงเป็นช่วง ม.ปลาย ที่เราอยากไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศมาก แต่ก็ไม่ได้ไป ถึงแม้ว่าจะเป็นการสอบ AFS ไปก็ตาม เพราะว่าที่บ้านตอนนั้นไม่มีเงิน พอมานึกดูแล้วก็คิดว่าคงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เรารู้สึกว่าอยากเดินทางไปต่างประเทศมากๆ ตอนเรียนมหาลัยก็เลยทำงานเก็บเงิน รับจ้างติวตัวต่อตัวบ้าง ไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ บ้าง จนเรียนจบปี 4 เลยได้เงินมาก้อนหนึ่งจึงได้ไปโครงการเวิร์คแอนด์ทราเวลที่อเมริกา โอ้โห การออกไปต่างประเทศครั้งนั้นได้เปิดโลกเราอย่างรุนแรง มีความสุขอยู่กับการใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศมาก ภาษาก็ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ตั้งแต่นั้นมาถ้ามีโอกาสก็จะพยายามเดินทางไปต่างประเทศ รับจ๊อบพิเศษเป็นหัวหน้าทัวร์พากรุ๊ปไทยไปต่างประเทศบ้าง มีความสุขมากกับการได้ใช้ภาษา

อยากให้ครูทอมเล่าให้ฟังหน่อยว่า สมัยเด็กเป็นเด็กแบบไหน เติบโตมาพร้อมกับอะไร

ถ้าย้อนกลับไปสมัยประถมก็เป็นเด็กเนิร์ดมาก เรียนอย่างเดียว ชอบเรียนหนังสือมาก กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่ก็จะเป็นแนววิชาการ เป็นตัวแทนโรงเรียนไปตอบปัญหาวิชาการ ประกวดแต่งกลอน แต่งเรียงความ ส่วนใหญ่ก็จะมาแนวนี้ พอขึ้นชั้นมัธยมก็ยังเป็นกิจกรรมเหล่านี้อยู่ แต่ออกแนวสนุกสนานมากขึ้น ถือไมโครโฟนไปเป็นพิธีกรตามงานหรือทำการแสดงต่างๆ ซึ่งต้องถือว่าช่วงมัธยมเป็นช่วงที่หล่อหลอมให้เราได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง เราได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ จากการทำกิจกรรม ถ้าไม่มีโอกาสได้ลองเป็นพิธีกรในช่วงนั้น เราคงไม่รู้ว่าเราชอบด้านการพูด การเอนเตอร์เทนคน

แล้วความอยากเป็นครูเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนไหน

อย่างผมเองพอมาเรียนต่อมหาลัย ก็เลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย ตอนเรียนยังไม่ได้คิดเลยว่าจบไปจะทำงานอะไร รู้แค่ว่าภาษาไทยคือสิ่งที่เราชอบและทำได้ดี แต่สมัยมหาลัยได้มีโอกาสไปติวหนังสือให้เด็กและทำค่ายต่างๆ จึงทำให้รู้ว่า การสอนหนังสือคือสิ่งที่เราชอบ เรารู้จักตัวเองผ่านการที่เรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมเหล่านี้แหละ ตอนนี้พอเรามาทำโครงการอาสา เราก็อยากให้เด็กได้มีโอกาสในการเรียนรู้และค้นหาตัวเองว่าเขาอยากเป็นอะไร หลายครั้งเราไม่มีทักษะ เราไม่รู้ความสามารถของตัวเองเพราะเรายังไม่มีโอกาสได้ลอง เรายังไม่รู้ว่าในโลกนี้มันมีอะไรอีกบ้าง เพื่อจะทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

จากประสบการณ์ที่ผมเคยไปสอนตามชนบทพบว่า เด็กๆ หลายคนรู้จักอยู่แค่ไม่กี่อาชีพ จริงอยู่ที่ตอนนี้เขาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่เวลาอยู่ในพื้นที่จริง เขาก็จะเห็นแต่อาชีพเดิมๆ ไม่รู้จักอาชีพใหม่ๆ และไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถทำได้แบบนั้นบ้าง การได้พาเด็กมาในเมือง แง่หนึ่งมันทำให้เขาได้เห็นการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้น เวลาไปทัศนศึกษา ทีมงานที่ไปก็จะประกอบไปด้วยเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำอาชีพต่างๆ เช่นครีเอทีฟ ผู้ประกาศข่าว มาเป็นสตาฟดูแลน้องๆ ก็จะช่วยเล่าให้เขาฟังด้วยว่าอาชีพเหล่านี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นความฝันของเขาก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง ทหาร ตำรวจ พยาบาล หมอ ฯลฯ แต่ตอนนี้โลกมันไปไกลมากแล้ว วันหนึ่งเขาอาจจะสามารถประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นแอดมินตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือเป็นครีเอทีฟรายการทีวีก็ได้ ถ้าเขาได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นสิ่งเหล่านี้

ขอบคุณสถานที่: Homie Hostel & Cafe
www.homiehostelandcafe.com


TAG: #คุณค่าของครู