Knowledge

บ้าน โรงเรียน ชุมชน ร่วมแรงร่วมใจสร้างเด็กไทยเติบโตยั่งยืน

บ้าน โรงเรียน ชุมชน ร่วมแรงร่วมใจสร้างเด็กไทยเติบโตยั่งยืน

 4 years ago 2752

ผู้เขียน: นางสาว กนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวหรือบ้าน สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน และชุมชน ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านการประสานความร่วมมือ ร่วมใจในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมเยาวชนให้มีศักยภาพ แต่ก็พบว่าในทางปฏิบัตินั้นความร่วมมือระหว่างทั้ง 3 ส่วนสำคัญนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเท่าไหร่นัก

"แค่คิดมันง่ายตอนจะทำมันยาก"

หากต้องการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง บ้าน โรงเรียนและชุมชน ในการเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเด็กไทย หลายความเห็นต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นความคิดที่ดีและคงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นได้ แต่หนทางที่จะนำไปสู่ความร่วมมือเช่นนั้นมันไม่ง่ายอย่างที่คิด หากต้องการให้ความคิดหรือความฝันมันเกิดขึ้นจริงได้ คงจะต้องค้นหาวิธีการหรือทางออกใดที่จะสามารถสร้างความร่วมมือร่วมใจของคนในบ้าน โรงเรียนและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทสังคมไทย ต้องทำอย่างไร ใช้วิธีอะไรบ้าง เพื่อทำให้สิ่งที่คิดสามารถเกิดขึ้นจริงได้

"ความร่วมมือร่วมใจสร้างได้ หากผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในบทบาทตัวเองต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง"

          บทบาทของผู้มีส่วนร่วม อย่างเช่น ผู้ปกครองจะต้องตระหนักในความสำคัญและอิทธิพลของการเลี้ยงดูที่ตนมีต่อบุตรหลานเป็นอันดับแรก ครอบครัวคือผู้ที่เด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด คงจะปฏิเสธต่อการให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุตรหลานของตนไปไม่ได้ อีกทั้งบทบาทของชุมชน ต่อการให้ความช่วยเหลือ เป็นหูเป็นตาหรือแม้กระทั่งตระหนักถึงศักยภาพของตนในการถ่ายทอดทักษะประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ นอกเหนือจากความรู้และวิชาการที่พร่ำสอนในโรงเรียน หากครอบครัว โรงเรียน และชุมชนต่างตระหนักถึงบทบาทของตนที่มีต่อการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนมากเพียงใด โอกาสต่อการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกันยิ่งเกิดขึ้นได้มากขึ้นเท่านั้น

"ความร่วมมือร่วมใจสร้างได้ หากมีเป้าหมายที่ชัดเจน"

          จากการศึกษาวิธีการสร้างหรือส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ ได้นั้น สิ่งสำคัญในการจะสร้างความร่วมมือที่ทรงพลัง คือ ต้องสร้างเป้าหมายที่เห็นพ้องเป็นหมายร่วมกันระหว่างกลุ่มหรือภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น เป้าหมายที่ครอบครัวต้องการจากการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้บุตรหลานตนเป็นเช่นไร มีอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง ผู้ปกครองจะต้องมีส่วนร่วมในการระบุปัญหา และร่วมหาทางออก โดยเป้าหมายของครอบครัวจะสอดคล้องและร่วมมือกับการดำเนินการของโรงเรียนได้หรือไม่ จะต้องอาศัยการพบปะ หรือผ่านการประชุมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา รวมทั้งชุมชนอันเป็นสภาพแวดล้อมสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ครอบครัวต่างอยู่อาศัยจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับการพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร บนเป้าหมายของครอบครัวที่มีร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้นคุณครูจะต้องทำให้ชัดเจน เห็นภาพของผลกระทบที่เกิดขึ้นหากครอบครัวและชุมชนเพิกเฉยหรือละเลยการมีส่วนร่วม

"ความร่วมมือร่วมใจสร้างได้ หากมีกระบวนการที่เข้าใจง่าย สะดวกและเป็นเครือข่ายที่เห็นความสัมพันธ์อย่างชัดเจน"

          หลายต่อหลายครั้งที่การมีส่วนร่วมระหว่างส่วนต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็อยู่ไม่ได้นาน โดยมีสาเหตุมาจากความซับซ้อนและคลุมเครือในทางปฏิบัติ ขาดการประสานงานอย่างเป็นระบบ ขาดความต่อเนื่อง และขาดการดำเนินการระหว่างบทบาทที่มีเครือข่ายต่อกันชัดเจน ส่งผลให้เกิดภาวะการคาดหวังในการหน้าที่แทน เช่น ครอบครัวจะประเมินบทบาทหน้าที่ของตนไว้ในขอบเขตที่ตนเข้าใจ และได้ประเมินบทบาทที่โรงเรียนต้องทำไว้ตามขอบเขตของความเข้าใจที่ตนมี ยิ่งขาดกระบวนการและเครือข่ายความร่วมมือที่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่เท่าไหร่ ความไม่ชัดเจนในหน้าที่ของแต่ละบทบาทยิ่งไม่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น จนกลายเป็นว่าหน้าที่ของครอบครัวบางส่วน โรงเรียนต้องทำแทน รวมทั้งการเข้าไปปรับและดูแลสภาพชุมชน โรงเรียนก็ต้องเข้าไปช่วยปรับปรุงพร้อมการทำหน้าที่ที่โรงเรียนพึงกระทำตามไปด้วย

          จากการศึกษาความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียนและชุมชน พบว่าเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น

  1. แต่ละภาคส่วนจะต้องมีเป้าหมายและตระหนักในบทบาทความสำคัญของตนต่อการดำเนินการร่วมกัน
  2. มีการระบุหน้าที่และขอบเขตที่แต่ละส่วนควรปฏิบัติ
  3. การวางระบบการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนต่างๆ ที่ชัดเจน

          โดยแนวทางการปฏิบัติที่ระบุขึ้นมานั้นจะต้องผ่านการเจรจาและแลกเปลี่ยนข้อมูล จุดประสงค์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เห็นพ้องร่วมกันซึ่งตั้งอยู่บนเจตจำนงค์ ความสมัครและเป้าหมายของทุกฝ่าย ในแนวทางการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการแสดงความเห็น ขอความร่วมมือหรือการติดตามผลการทำงานระหว่างกันอาจจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการติดตามการทำงานร่วมกันและเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เหมาะสม เข้าใจง่ายสามารถใช้และเข้าถึงโดยทั่วไปโดยไม่จำกัดอายุ ทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน สามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายการดำเนินการระหว่างกันที่มั่นคงได้อีกด้วย



ที่มา: https://ctb.ku.edu/en/creating-and-maintaining-coalitions-and-partnerships
https://www.preventioninstitute.org/publications/developing-effective-coalitions-an-eight-step-guide


TAG: #การพัฒนาการศึกษา