Knowledge

ประเมินอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ทั้งกับคุณครูและนักเรียน

ประเมินอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ทั้งกับคุณครูและนักเรียน

 4 years ago 26936

ครูฐาปนีย์ ดวงฉายจรัสไชย ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในแต่ละภาคการศึกษา นักเรียนได้ถูกประเมินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบบทดสอบก่อนเรียน แบบทดสอบหลังเรียน จนถึงการสอบกลางภาคเรียน และ การสอบปลายภาคเรียน ซึ่งการประเมินเหล่านี้ คุณครูหลายท่านได้ทำขึ้นมาเพื่อวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน ว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้อยู่ในระดับไหน ผ่านเกณฑ์หรือไม่ จนฉันเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘คุณครูสามารถนำผลของการประเมินที่มากมายเหล่านี้ มาวิเคราะห์และใช้ให้เกิดผลกับทั้งตัวคุณครูและนักเรียนมากกว่านี้ได้อีกรึเปล่า’ จริงๆ แล้วคุณครูหลายท่านอาจจะรู้คำตอบ และมีวิธีในการประเมินที่เกิดผลสูงสุดกับห้องเรียนของคุณครูแล้ว แต่ในบทความนี้ ฉันก็อยากจะมาแชร์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถประเมินได้ครบถ้วนทั้งกระบวนการสอน รวมทั้งนำเสนอตัวอย่างการประเมินที่ทำให้เกิดผลทั้งต่อตัวคุณครูและตัวนักเรียน

          การประเมิน (Assessment) เป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลของนักเรียน และตีความหลักฐานการเรียนรู้นั้น ๆ เพื่อใช้ในการสรุปผลเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการประเมินนั้น สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
          Assessment of Learning เป็นกระบวนการที่ทำ ณ จุดสิ้นสุดของการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่ว่าจะท้ายบทเรียน ทบทวนก่อนสอบ หรือ การสอบกลางภาคเรียนและปลายภาคเรียนก็ตาม ซึ่งเป็นการประเมินที่ทำเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ของนักเรียน (Student Achievement) บนเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน ณ จุดสิ้นสุดนั้นๆ ที่คุณครูได้ตั้งเอาไว้
          Assessment for Learning เป็นกระบวนการที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะที่นักเรียนกำลังเรียนรู้ เพื่อช่วยให้คุณครูได้ติดตามผลการเรียนรู้ของนักเรียนอยู่อย่างสม่ำเสมอและปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนของคุณครู (Teaching) บนเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละช่วงที่คุณครูได้ตั้งเอาไว้
          Assessment as Learning เรียกว่าเป็นกระบวนการพิเศษเลยก็ว่าได้ เพราะว่าเป็นกระบวนการที่ให้นักเรียนได้ตระหนักถึง และประเมินพฤติกรรมหรือกระบวนการคิดต่าง ๆ ของตัวเอง (Student Metacognition) อยู่เรื่อยๆ บนเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียนที่คุณครูหรือแม้แต่ตัวนักเรียนเองได้ตั้งไว้

          ซึ่งการประเมินทั้งสามรูปแบบนี้ ต้องทำไปควบคู่กัน และสอดคล้องกัน จึงจะทำให้เกิดผลทั้งต่อ (1) ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน (2) กระบวนการสอนของคุณครู และ (3) การตระหนักรู้ต่อการเรียนรู้ของตนเองของนักเรียน และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยที่ควรมีไปพร้อมกับการประเมินนั้นก็คือ ‘เป้าหมาย’ ค่ะ คุณครูควรที่จะมีเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียนที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นเทอม ว่าในแต่ละช่วงของการเรียนรู้นั้น นักเรียนควรที่จะมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ไปถึงไหนบ้างแล้ว และ นักเรียนก็ควรที่จะมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ว่า ณ เวลานั้น หรือ ในช่วงเวลานั้น เขาอยากทำอะไรให้สำเร็จได้บ้าง เมื่อมีเป้าหมายครบจากทั้งคุณครูและนักเรียนแล้ว กระบวนการประเมินใน 3 รูปแบบนี้ถึงจะครบถ้วนสมบูรณ์ค่ะ

ตัวอย่างการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน
ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งคุณครูได้ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

  เป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน
สัปดาห์ที่ 4 นักเรียนอย่างน้อย 80% สามารถใช้วิธีการแยกตัวประกอบ ในการหารากที่สองของจำนวนที่กำหนดไว้ให้ได้อย่างถูกต้องทุกข้อ
สัปดาห์ที่ 6 นักเรียนอย่างน้อย 75% สามารถแสดงวิธีทำและหาผลบวก ลบ คูณ หรือ หารของจำนวนรากที่สองที่กำหนดไว้ได้อย่างถูกต้องอย่างน้อย 4 ข้อ

และในสัปดาห์ที่ 4 นี้ คุณครูต้องการจะประเมินว่า นักเรียนของเขาอย่างน้อย 80% นั้น สามารถใช้วิธีการแยกตัวประกอบได้อย่างถูกต้องมั้ย ในการหารากที่สองของจำนวนที่คุณครูได้กำหนดให้ ซึ่งก่อนจะถึงวันที่คุณครูประเมินนักเรียน คุณครูได้ให้นักเรียนตั้งเป้าหมาย และตระหนักถึงระดับความเข้าใจในเนื้อหาของตัวเอง จากคำถามเหล่านี้
● มีเนื้อหาในส่วนไหนที่ฉันทำได้อย่างแม่นยำแล้ว
● มีเนื้อหาในส่วนไหนที่ฉันยังไม่มั่นใจ
● จากโจทย์ทั้งหมด 5 ข้อ ฉันตั้งใจจะทำให้ได้ถูกต้องกี่ข้อ

จนถึงวันที่คุณครูประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน คุณครูได้ให้นักเรียนแต่ละคน ทำแบบทดสอบด้วยตัวเอง โดยที่แบบทดสอบมีทั้งหมด 5 ข้อ แบ่งระดับความท้าทายเป็น 3 ระดับด้วยกัน และแต่ละระดับมีคะแนนต่อข้อที่แตกต่างกัน 

LEVEL 1: 2 ข้อ
(ข้อละ 2 คะแนน)
LEVEL 2: 2 ข้อ
(ข้อละ 3 คะแนน)
LEVEL 3: 1 ข้อ
(ข้อละ 5 คะแนน)

ซึ่งหลังจากนักเรียนทำแบบทดสอบเสร็จ คุณครูได้มีคำถามให้นักเรียนตอบ ดังนี้
1. ฉันมั่นใจในการทำโจทย์ข้อที่เท่าไหร่
2. ฉันไม่มั่นใจในการทำโจทย์ข้อที่เท่าไหร่
3. จงให้คะแนนความตั้งใจในการเรียนรู้และทบทวนเนื้อหาเรื่องนี้ของตนเอง (5 คะแนนเต็ม)
พร้อมอธิบายว่าเพราะอะไรถึงให้คะแนนเท่านี้
4. จงให้คะแนนกระบวนการสอนของคุณครูในเนื้อหาเรื่อง การหารากที่สอง (5 คะแนนเต็ม)
พร้อมอธิบายว่าเพราะอะไรถึงให้คะแนนเท่านี้
5. หากย้อนเวลากลับไปได้ ฉันอยากเปลี่ยนแปลงอะไรมั้ย หากมี อธิบายให้ครูฟังหน่อย

จากตัวอย่างกระบวนการประเมินการเรียนรู้นี้ จะเห็นได้ว่าคุณครูจะสามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ (Assessment of Learning) จากการที่คุณครูดูผลคะแนนของนักเรียนว่ามีนักเรียนถึง 80% สามารถทำได้คะแนนเต็มหรือไม่

ในขณะเดียวกัน คุณครูก็สามารถประเมินการสอนของตนเอง (Assessment for Learning) ได้เช่นเดียวกัน จากคำตอบที่นักเรียนตอบ ข้อที่ 4 ท้ายแบบทดสอบ และนำคำตอบเหล่านี้ ไปใช้ในการปรับแผนการสอนของตนเอง และ นักเรียนก็สามารถตระหนักถึงพฤติกรรม และการเรียนรู้ของตัวเอง (Assessment as Learning) ได้มากมายเลยในกระบวนการนี้ผ่านการตอบคำถามของคุณครูตั้งแต่ก่อนทำแบบทดสอบ จนถึงหลังทำแบบทดสอบ ซึ่งการตอบคำถามทั้งหมดนี้ จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองถึงเหตุผลของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่ามันใกล้เคียงหรือห่างจากเป้าหมายที่พวกเขาตั้งใจทำให้ได้ขนาดไหน และนำการเรียนรู้นี้ไปใช้ในการปรับและพัฒนาตัวเองต่อไป

อ้างอิง
บทความ Assessment as learning: การประเมินขณะเรียนรู้ ของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย วงษ์ใหญ จาก http://www.curriculumandlearning.com/upload/assessment%20%20as%20%20learning_1415862542.pdf

ข้อมูล Assessment of, for and as Learning จาก https://curriculum.gov.mt/en/Assessment/Assessment-of-Learning/Documents/assessment_of_for_as_learning.pdf

เรื่องราวจาก นางสาวพิชญ์สินี เหล่าปรีชากุล คุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 5 จากโครงการ Teach for Thailand https://www.facebook.com/100028887382633/posts/242786796694231/?d=n


TAG: #Asseessment #การประเมินผลการเรียนรู้ #การประเมิน #Assessment of Learning