Video

EDUCA Cafe Podcast: วิกฤต Covid-19 กับผลกระทบต่อเด็กทั่วโลก ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ

 3 years ago 1525

โรงเรียนต้องปิด เลื่อนเปิดเทอมจากวิกฤต Covid-19 ในครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับการทดลองครั้งใหญ่ที่สุดของโลกที่กำลังสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อเด็ก ที่น่ากลัวคือ เราไม่รู้จะว่าเหตุการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร และผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะเปลี่ยนแปลงเด็กๆ ไปมากแค่ไหนตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา Covid-19 ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้คนรอบตัวเรา ผลจากงานวิจัยมากมาย ทำให้เรารู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างกับเด็กๆ

อ้างอิง
Preston, C. (2020, April 15). 'A drastic experiment in progress': How will coronavirus change our kids? Retrieved April 23, 2020, from https://hechingerreport.org/a-drastic-experiment-in-progress-how-will-coronavirus-change-our-kids/

Script

สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับคุณครูครูทุกท่าน เข้าสู่ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันตามภาษา Cool...ครู กับ ดิฉัน นิภาพร กุลสมบูรณ์ หรือครูนิค่ะ วันนี้มาด้วยเนื้อหาจากงานวิจัย ที่ค้นหาผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ต่อเด็กๆ ของเราในเชิงจิตวิทยา ที่น่าสนใจมาเล่าให้ทุกท่านฟังค่ะ

เนื้อหานี้เรียบเรียงมาจากบทความ 'A drastic experiment in progress': How will coronavirus change our kids? จาก เว็บไซต์ hechingerreport.org ในหัวข้อ วิกฤต Covid 19 กับผลกระทบต่อเด็กทั่วโลก ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ

ความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เด็กๆ ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญ เพราะโรงเรียนปิดจากวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับการทดลองครั้งใหญ่ที่สุดของโลกที่กำลังสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อเด็ก ที่น่ากลัวคือ เราไม่รู้จะว่าเหตุการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร และผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะเปลี่ยนแปลงเด็กๆ ไปมากแค่ไหนตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา

ในอดีตเคยมีงานวิจัยมากมายถึงผลกระทบของเด็กที่ถูกแยกออกจากพ่อแม่เพราะสถานการณ์ต่างๆ เช่น การอพยพเด็กหลายล้านคนจากกรุงลอนดอนและเมืองอื่นๆ ไปอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ในแถบชนบทของประเทศอังกฤษในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 Anna Freud นักจิตวิเคราะห์ที่ทำการวิจัยระบุว่า เด็กที่ได้อยู่กับครอบครัวในช่วงที่มีการทิ้งระเบิดจะมีความทุกข์ร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าวน้อยกว่าเด็กที่ถูกส่งไปอยู่ที่อื่นมาก

อีกงานวิจัยหนึ่งของ John Bowlby กล่าวถึงเด็กที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัว เพราะต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ ผลการวิจัยนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทฤษฎีความผูกพัน ที่เน้นย้ำเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็ก รวมถึงอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพวกเขาถูกแยกออกจากกัน

แล้วสถานการณ์ไวรัสระบาดที่เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกับพ่อแม่เป็นเวลานาน แต่กลับต้องแยกขาดจากเพื่อน ครู และคนอื่นๆ ในชีวิต เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบอย่างไร เราไม่มีทางรู้ได้เลย เพราะการทดลองยังไม่เสร็จสิ้น

James Coan ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Virginia กล่าวว่า สำหรับเด็กอายุน้อย ที่อดเล่นกับเพื่อนๆ ด้วยกันอาจมีผลกระทบชัดเจน เนื่องจากการเล่นกับเพื่อนทำให้เกิดการพัฒนาการด้านความคิด ผู้ใหญ่เองอาจจะไม่ใช่เพื่อนเล่นที่ดี เพราะมีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องทำมากมาย สำหรับเด็กที่เป็นลูกคนเดียวก็อาจมีความอ่อนไหวต่อประเด็นนี้เป็นพิเศษ ซึ่งในปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

Kenneth Rubin ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการของมนุษย์และกระบวนการวิจัยเชิงปริมาณจาก University of Maryland กล่าวว่า เด็กจำเป็นต้องมีเพื่อน เพราะช่วยให้พัฒนาทักษะทางสังคมและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รวมถึงคุณธรรม จริยธรรมต่างๆ เมื่อได้เล่นและสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่เมื่อเด็กอยู่บ้านก็จะสูญเสียโอกาสเหล่านี้ไป ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านมนุษยสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวเดียวกัน

เรื่องนี้มีงานวิจัยจาก Arjen Stolk นักประสาทวิทยาด้านการเรียนรู้ ยืนยันว่า เด็กที่เคยอยู่ศูนย์ดูแลเด็กสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยอยู่ในศูนย์ดูแลเด็กมาก่อน โดยในงานวิจัยนี้ เด็กอายุ 5 ขวบจะต้องสื่อสารด้วยอวัจนภาษากับเด็กอื่นๆ ที่มีอายุแตกต่างกัน ให้สามารถเล่นวิดีโอเกมตามการสื่อสารนั้นๆ ได้ พบว่าเด็กกลุ่มที่เคยอยู่ในศูนย์ดูแลเด็กสามารถสร้างสรรค์การปฏิสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวได้ดีกว่าเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง

ในสถานการณ์ที่ต้องอยู่บ้านด้วยกันนานๆ นี้ พ่อแม่อาจพบว่าการรับมือกับเด็กๆ กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น นั่นเป็นเพราะสมองส่วนหน้าของพวกเขายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ พ่อแม่เลยอาจหมดแรงเมื่อต้องคอยช่วยเหลือเด็กในการควบคุมอารมณ์ โดยไม่มีคนอื่นมาช่วยแบ่งเบาภาระ เช่น ครู ญาติๆ หรือศูนย์ดูแลเด็ก

Jay Belsky ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการของมนุษย์จาก Robert M. and Natalie Reid Dorn, University of California-Davis กล่าวว่า สำหรับเด็กที่เป็นลูกคนเดียว หรือเด็กที่ไม่สามารถเข้ากันได้ดีกับพี่น้องก็จะมีความเปราะบางกว่าเด็กที่มีพี่น้องเป็นเพื่อนเล่น เช่นเดียวกัน หากผู้ปกครองมีความโดดเดี่ยวทางสังคม และมีแนวโน้มว่ามีความกังวลง่าย เด็กของผู้ปกครองกลุ่มนี้จะมีความเปราะบางกว่าเด็กที่ผู้ปกครองมีทักษะในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ส่วนเด็กที่ปกติเป็นคนขี้เหงาและมักรู้สึกว่าอะไรๆ ในโลกก็ขัดขวางเขาไปหมด ก็อาจจะลำบากกว่าคนอื่นในช่วงเวลาเช่นนี้ค่อนข้างมาก

แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราใกล้ชิดกันได้ในช่วงที่ยังต้องทำ Social Distancing ผู้ใหญ่ยังคงสามารถพูดคุย หรือจัดปาร์ตี้กันได้ผ่าน Zoom แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว การเล่นกันเป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถจำลองขึ้นมาในโลกเสมือนจริงได้เลย วิกฤต COVID-19 ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้คนรอบตัวเรา ไม่ใช่แค่พ่อแม่เท่านั้นที่เราเคยเชื่อกันว่า เป็นคนที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก แต่ยังมีเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง ครูและคนอื่นๆ อีกมากมาย

เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากทีเดียวสำหรับเด็กๆ แต่ EDUCA ก็พร้อมเรียนรู้เป็นกำลังใจให้ทั้งครู และผู้ปกครองทุกท่าน โดยจะนำเคล็ดลับ หลักการ และคำแนะนำในการดูแลเด็กๆมาฝากท่านอย่างต่อเนื่องนะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่ฟังมาถึงตรงนี้ค่า หากคุณครู มีไอเดียน่าสนใจ แหล่งเรียนรู้ดีๆ เพื่อช่วยเหลือเรื่องจิดใจของเด็ก ก็สามารถส่งความคิดเห็นหรือแนวทางของท่าน มาแลกเปลี่ยนกันได้ ฝากติดตาม EDUCA ได้ที่ www.educathai.com เรายังมีเฟซบุ๊กและก็ไลน์@ ด้วยนะคะ อยากฟังต่อเนื่องติดตาม EDUCA Café podcast ได้ทั้งทาง podbean และ YouTube นะคะ

พบกันตอนต่อไปค่ะ สวัสดีค่ะ


TAG: #EDUCAPodcast #โควิด19 #Covid19 #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #สอนออนไลน์