Knowledge

8 เคล็ดลับ ผู้บริหารใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานครูอย่างมีคุณภาพ และ ครูเครียดน้อยลง

8 เคล็ดลับ ผู้บริหารใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานครูอย่างมีคุณภาพ และ ครูเครียดน้อยลง

 4 years ago 5617

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          นอกจากงานด้านการสอน ครูทุกคนต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับผู้บริหาร ที่ทำหน้าที่ประเมินครูในโรงเรียน มาเช็กความรู้พื้นฐานสิ่งไม่ควรทำในการประเมินผลการปฏิบัติงานครูกันก่อน

  • อย่าไปคัดลอกและแปะ ข้อมูลการประเมินของครูคนหนึ่งไปใส่ในแบบประเมินของครูอีกคนเป็นอันขาด (เคยเกิดขึ้นจริงๆ นะ)
  • อย่าไปใช้วิธี “ลูบหลัง ตบหัว ลูบหลัง” หมายถึงเริ่มต้นด้วยการชมถึงสิ่งดี ๆ ก่อนจะไประบุรายการสิ่งที่ดูไม่ถูกต้องเหมาะสมยาวเหยียด แล้วกลับมาตบท้ายด้วยคำชมอีกครั้ง หรือคุณจะเรียกวิธีนี้ว่า “แบบประเมินประเภทมีคำชมประกบแค่หัวท้าย” ก็ได้
  • อย่าไปเขียนผลประเมินยาวเกือบเท่านวนิยาย ลงรายละเอียดทุกสิ่งที่คุณสังเกตเห็นแล้วหวังว่าครูจะสามารถอ่านครบและแก้ไขทุกจุด

 

สิ่งที่ควรทำในการประเมินผลการปฏิบัติงานครู

  • ควรส่งข้อสังเกตให้ครูทันทีหลังประเมินเพื่อให้ครูได้แก้ไขข้อบกพร่อง รวมถึงทราบด้วยว่ามีสิ่งใดบ้างที่พวกเขาทำได้ถูกต้องเหมาะสมอยู่แล้ว
  • ควรระบุเฉพาะจุดสำคัญ 2-3 จุดเพื่อให้ครูรู้ว่าควรทุ่มเทไปที่จุดไหนแล้ว สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการสอนจากจุดนั้น

          เหล่านี้เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการประเมินผลงานครู EDUCA เรียบเรียงมาจาก 8 Ways to Make Teacher Evaluations Meaningful and Low-Stress ขอเสนอเคล็ดลับเพิ่มความก้าวหน้าให้ผู้บริหาร สามารถนำไปใช้ในการประเมิน และสังเกตการทำงานของครูได้อย่างมีเหตุผล มีความหมาย และทำให้ครูเครียดน้อยลงด้วย ผ่าน 8 แนวคิดที่เก็บรวบรวมมาจากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ

  1. เข้าใจเครื่องมือประเมินผล
              แม้ว่าในการประเมินจะมีกรอบ และแนวทางที่ชัดเจนอยู่ทุกด้านแล้ว แต่ผู้บริหารควรทำความเข้าใจ วิธีนำผลการประเมิน มาต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เมื่อได้รับข้อมูลจากกระบวนการประเมินแล้ว จงนำข้อมูลนั้น ๆ มาทำแผนปฏิบัติงานให้แก่ครูเพื่อช่วยให้ครูได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น (1)
  2. นัดแนะเตรียมตัวกับครูก่อน
              ก่อนจะเข้าห้องเรียนไปทำการสังเกตและประเมินผลปฏิบัติงาน ผู้บริหารควรมีโอกาสคุยกับครูเกี่ยวกับบทเรียนที่จะเข้าไปดูการเรียนการสอน และเล่าให้ครูฟังว่า ผู้ประเมินหวังจะได้เห็นอะไรบ้างในห้องเรียน ควรถามเพิ่มด้วยว่าอยากให้สังเกตจุดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ (2)
  3. แวะดูห้องเรียนตั้งแต่ต้นปีการศึกษาและแวะดูบ่อย ๆ
              ภาครัฐอาจกำหนดให้ผู้บริหารต้องแวะดูห้องเรียน 1 – 2 ครั้งต่อปี แต่ผู้บริหารและทีมงานควรตั้งเป้าให้สูงกว่านั้น การได้แวะดูห้องเรียนบ่อย ๆ และเริ่มทำตั้งแต่ช่วงต้นเทอม โดยอาจจะใช้เวลาแค่ 10 นาทีต่อครั้งก็ได้ จะช่วยให้ผู้บริหารคุ้นเคยกับครู วิธีการสอนของครูตลอดจนนักเรียนในห้อง ครูและนักเรียนก็ไม่อึดอัดเวลาผู้บริหารเข้ามาอยู่ในห้องเรียน ลดความวิตกกังวลเมื่อถึงเวลาการประเมินผลปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการ
              การได้แวะบ่อยๆ ผู้บริหารมีโอกาสเห็นจุดอ่อน และจุดแข็งของการจัดการเรียนการสอนและบริหารห้องเรียน รวมถึงช่วยเปิดโอกาสให้ครูได้ปรับปรุงพัฒนาตัวเองก่อนหน้าการถูกประเมิน เปลี่ยนช่วงเวลาที่ครูรู้สึกว่าโดนจับผิด เป็นช่วงเวลาที่ครูมีโอกาสแสดงศักยภาพเต็มที่ เพราะได้รับการบอกกล่าวแก้ไขไปแล้ว
    ผลสำรวจ ประเมินผลการปฏิบัติงานครู
  4. สังเกตทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ครู
              การประเมินหลายๆครั้ง ตลอดคาบเรียน ผู้บริหารมักจะจดจ่ออยู่แค่เฉพาะสิ่งที่ครูทำเพื่อประเมินผล เพราะระบบประเมินที่จัดทำโดยภาครัฐแนะนำให้ทำเช่นนี้ แต่ครู ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่าผู้บริหารน่าจะสังเกตนักเรียน สนใจบรรยากาศการเรียนการสอนมากกว่า อาทิเช่น ครูให้นักเรียนทำอะไร เด็ก ๆ กำลังทำอะไร และพวกเขาถามคำถามอะไรในห้องเรียน
              การสังเกตนักเรียน โดยฟังคำถามที่พวกเขาถามขึ้นมาสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขากำลังประมวลสิ่งที่เรียนไปใช่ไหม หรือจริง ๆ แล้วพวกเขาแค่ท่องตามคำบอกของครู นอกจากนี้แล้ว ยังดูด้วยว่าเด็ก ๆ รู้จักเรียนรู้จากเพื่อนไหม หรือพวกเขารู้จักแต่แค่ยกมือถามครูอย่างเดียว (3)
  5. แจ้งข้อมูลจากการประเมินทันที
              การแจ้งคำติชมอย่างรวดเร็วเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญในการช่วยให้ครูได้รับประโยชน์จากกระบวนการประเมินผลอย่างเต็มที่ การส่งบันทึกการประเมินผลให้ครูดูภายใน 24 ชั่วโมง และเน้นเขียนบันทึกในแนวทางเปิดประเด็นเพื่อการพูดคุยมากกว่าการแสดงความคิดเห็นแบบปลายปิด โดยอาจเรียก “ข้อสังเกตและข้อสงสัย” โดยข้อสังเกตมักมากับคำชมเพราะจะระบุว่าเขาสังเกตเห็นสิ่งใดบ้างที่เป็นไปด้วยดีในห้องเรียน ส่วนข้อสงสัยมักจะมาในรูปแบบของคำถามสัก 2-3 ข้อ โดยข้อสงสัยนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องไม่ดีก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ผู้บริหารไม่ควรตั้งข้อสมมติฐานใดขึ้นมาเอง (4)
  6. หา 'สาเหตุ'
              บ่อยครั้งผู้ประเมินทำรายการยาวเหยียดว่าครูควรจะทำอะไรบ้าง และปล่อยให้พวกเขาหาทางแก้ไขปัญหากันเอง ถ้าหนักหน่อยเวลาเจอครูที่มีปัญหา ผู้บริหารมักจะบอกว่าการจัดการห้องเรียน การวางแผน การสอนและการประเมินผลนักเรียนนี่ไม่ได้เรื่อง แล้วจบลงที่ เดี๋ยวอีก 2 สัปดาห์จะกลับมาดูใหม่ หวังว่าปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขแล้วตอนนั้น ซึ่งถ้ามีผู้บริหารทำแบบนี้ โรงเรียนจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการแน่นอน
              ผู้บริหารสามารถหาต้นเหตุของปัญหาด้วยหลักการตัดออก แนะนำให้ครูดูรายการสิ่งที่สังเกตเห็นแล้วคอยถามตัวเองว่า “หากครูตัดปัจจัย 'x' ออกเพียงอย่างเดียว ห้องเรียนและการเรียนการสอนจะดีขึ้นใช่หรือไม่” ผู้บริหารควรจะมองหาต้นเหตุของปัญหาแค่อย่างหนึ่งก่อน เพื่อช่วยให้ครูรู้ว่าต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน ก่อนจะไปไล่ดูจุดอื่น ๆ
              เมื่อระบุต้นเหตุได้แล้ว ผู้บริหารควรทำงานร่วมกับครูในการแก้ไขปัญหานั้น หลังจากที่ครูเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็จะเริ่มมีพลังในการแก้ไขปัญหาใหญ่อื่น ๆ ต่อไป วิธีนี้จะช่วยให้จัดการการพัฒนาการสอนได้ง่ายขึ้น และเป็นการดึงให้ครูก้าวเข้ามามีส่วนร่วมตลอดจนรับผิดชอบแก้ไขปัญหา (1)
  7. ครูต้องมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น
              ผู้บริหารต้องทำให้ครูรู้สึกว่าการประเมินผลงานเป็นการสื่อสารสองทาง และดำเนินงานต่อเนื่อง ถึงแม้บทบาทของผู้บริหาร ควรเปิดเผยและตรงไปตรงมา แต่ผู้บริหารก็ไม่ควรจดรายละเอียดยิบย่อยว่าครูทำอะไรผิดบ้าง ทั้งนี้ ครูควรได้รับโอกาสในการพิจารณาการสอนของตัวเอง รวมถึงแจ้งบริบทตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่ผู้ประเมินอาจไม่ทราบ อาทิ มีการเตรียมตัวอะไรมาบ้างแล้วในคาบเรียนที่แล้ว หรือมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากผู้บริหารออกจากห้องเรียนไป
  8. ให้โอกาสในการพัฒนาและเติบโต
              การส่งผลการประเมินควรอยู่บนรากฐานของความตั้งใจดี อยากให้ครูได้รับทักษะใหม่ ได้ปรับตัว และได้ซึมซับสิ่งที่จะช่วยให้พวกได้เรียนรู้และเติบโตต่อไป การบอกให้ครูต้องไปทำ "x" แล้วปล่อยให้ครูไปทำเอง แตกต่างจากการบอกแล้วเข้าไปช่วยให้ครูพัฒนาด้วยการชี้แนะเพิ่มเติม หรือพาครูไปดูห้องเรียนตัวอย่าง
              การสนับสนุนครูควรได้รับการจัดสรรอย่างสอดคล้องกับความต้องการ และระดับการสอนของครู "เรามักคาดหวังให้ครูตอบสนองความต้องการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายบุคคลในชั้นเรียน แล้วทำไมเราถึงไม่ทำแบบนั้นให้กับครู" (1)


          กระบวนการพัฒนาและเติบโตกับการพูดคุยถึงผลประเมินการปฏิบัติงานกับครู ถือเป็นการทำงานร่วมกับครูทีละขั้นตอน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ คำแนะนำว่าควรดำเนินการอย่างไรก่อนจะนำสิ่งนั้นไปใช้ในห้องเรียน โดยครูได้ฝึกฝนตนตามคำแนะนำนั้น ๆ ผู้บริหารควรทำให้ครูรู้สึกว่าการรายงานผลการปฏิบัติงานนั้นมีคุณค่า และอยากให้ครูเดินออกจากห้องรายงานด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จเมื่อนำกลยุทธ์ที่เราแนะนำไปใช้ในห้องเรียน (5)

อ้างอิง
เนื้อหาเกี่ยวกับผู้บริหารและความเป็นผู้นำในโรงเรียนได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมูลนิธิจอยซ์ (Joyce Foundation) แต่ Education Week เป็นผู้ดูแลควบคุมเนื้อหาในเชิงบรรณาธิการแต่เพียงผู้เดียว
https://www.edweek.org/ew/articles/2019/10/16/feedback-for-teachers-8-ways-to-make.html 8 Ways to Make Teacher Evaluations Meaningful and Low-Stress โดยเดนิซ่า ซุปเปอร์วิลล์ 15 ต.ค. 2562
(1) โรเบิร์ต แจ็คสัน อดีตผู้บริหารโรงเรียนที่ผันตัวมาเป็นที่ปรึกษา
(2) แบรด จาค็อบเซน ผู้บริหารของโรงเรียนมัธยมแอชแลนด์-กรีนวู้ดในรัฐเนบราสกา
(3) คีชา แฮนดี้ ผู้บริหารโรงเรียนประถมโคล์ในเมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย
(4) ลูคัส แคลมป์ ผู้บริหารประจำโรงเรียนมัธยมปลายริเวอร์บลัฟฟ์ในย่านเล็กซิงตัน รัฐเซาธ์แคโรไลนาและผู้บริหารแห่งปี 2019 ของสมาคมผู้บริหารประจำโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
(5) คิมเบอร์ลีย์ เกรย์สัน ผู้บริหารประจำโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยลูเธอร์ คิง จูเนียร์ในรัฐเดนเวอร์


TAG: #ประเมินผลการปฏิบัติงานครู #ประเมินครู #ผู้บริหารโรงเรียน #การจัดการโรงเรียน