Knowledge

ถอดบทเรียนเดนมาร์ก กับ New Normal เปิดโรงเรียนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด

ถอดบทเรียนเดนมาร์ก กับ New Normal เปิดโรงเรียนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด

 4 years ago 7272

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          แม้องค์การอนามัยโลกจะออกมาเตือนหลายประเทศว่า ยังไม่ควรเปิดโรงเรียนตอนนี้ เพราะการแพร่เชื้ออาจจะกลับมาได้ ในบางประเทศสถานการณ์การระบาดจะดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ ทันย่า ลินเน็ต ผู้อำนวยการโรงเรียนโลกัมคลอสเตอร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมที่อยู่ทางใต้ของประเทศเดนมาร์กตัดสินใจเปิดโรงเรียน ทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตกที่เปิดโรงเรียน ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่สงบนิ่ง โรงเรียนจะมีมาตรการอย่างไรในการสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองว่า ลูกหลานของตนจะเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยตลอดปีการศึกษา ห้องเรียนในโรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นห้องเรียนที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะหากโรงเรียนประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด หลายประเทศอาจได้แนวทางที่ดีในการนำมาปรับใช้กับโรงเรียนของตน

สำหรับมาตรการที่โรงเรียนโลกัมคลอสเตอร์ใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคคือ
- ห้ามผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณโรงเรียน
- ครูห้ามนั่งรวมกันที่ห้องพักครู
- นักเรียนต้องนั่งแยกโต๊ะกัน โดยจัดโต๊ะตั้งห่างกันเกือบ 2 เมตร
- ครูพยายามสอนนอกห้องเรียนให้มากเท่าที่จะทำได้
- มีการตีเส้นบนพื้น ให้นักเรียนรู้ว่าต้องยืนห่างกันแค่ไหน
- ในเวลาพัก นักเรียนเล่นกันได้ แต่ไม่ให้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่
- ทุกคนต้องล้างมืออย่างน้อยชั่วโมงละครั้งในช่วง 6 ชั่วโมงที่อยู่โรงเรียน
- มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เช็ดลูกบิดประตูอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวันตามคำสั่งจากรัฐบาล
- ยังไม่เปิดให้เข้าใช้ห้องสมุด

          อีกเหตุผลหนึ่งที่ครูใหญ่ตัดสินใจเปิดโรงเรียน อาจเป็นเพราะในเมืองโลกัมคลอสเตอร์ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และประเทศเดนมาร์กก็ไม่ได้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงเหมือนหลายๆ ประเทศในยุโรป คาร์ล โจฮัน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า มองด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเปิดโรงเรียนทำให้ผู้ปกครองที่ยังมีงานทำ สามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการที่จะต้องมาดูแลลูกไปด้วย

          แม้โรงเรียนจะยังรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แต่ผู้ปกครองบางคนก็ยังอดเป็นกังวลไม่ได้ พวกเขายังไม่อนุญาตให้ลูกมาโรงเรียนในวันแรก แต่เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย วันที่สองพวกเขาก็เปลี่ยนใจส่งลูกมาโรงเรียน ขณะที่สถานการณ์ในบางเมืองของเดนมาร์ก ก็มีผู้ปกครองตั้งกลุ่มทางเฟซบุค ประท้วงการเปิดโรงเรียน เพราะกลัวว่าอาจทำให้เด็กๆ ได้รับอันตราย

          เมื่อลูกๆ มาเรียนที่โรงเรียน พ่อแม่บางคนคิดว่า การแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาสบายใจที่สุด นักเรียนห้องหนึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2-3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีห้อง และครูของตัวเอง และเด็กก็จะเล่นด้วยกัน ซึ่งการแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มย่อยนี้ ทำให้จำนวนห้องเรียนเพิ่มขึ้น หมายถึงครูและผู้ช่วยต้องทำงานหนักขึ้น ถ้าพวกเขาจะออกจากห้องสัก 2-3 นาที ครูต้องแจ้งทีมสนับสนุนที่มีสมาชิก 3 คนให้มาช่วยดูเด็ก

          การเปิดโรงเรียนโลกัมคลอสเตอร์ในช่วงการระบาดของไวรัสในครั้งนี้ จะประสบผลสำเร็จด้วยดีหรือไม่ คงต้องใช้เวลาดูกันไปสักระยะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูจะต้องเหนื่อยกันมากสักหน่อยในช่วงแรก ผู้ปกครองเองก็ยังคงเป็นกังวลบ้าง แต่คนที่ดูจะมีความสุขมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเด็กๆ ที่ได้กลับมาเจอหน้าเพื่อนๆ อีกครั้ง การได้วิ่งเล่น พูดคุยกันเหมือนเดิมในแต่ละวัน เป็นการเติมพลังใจให้พวกเขาสู้กับวิกฤตไวรัสระบาดที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร

อ้างอิง
Kingsley, P. (2020, April 17). In Denmark, the Rarest of Sights: Classrooms Full of Students. Retrieved April 24, 2020 from https://www.nytimes.com/2020/04/17/world/europe/denmark-schools-coronavirus.html


TAG: #การจัดการโรงเรียน #โควิด19 #Covid19 #SocialDistancing #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ