Knowledge

“SENCO” ผู้ประสานงาน และทำงานเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้แบบพิเศษ

“SENCO” ผู้ประสานงาน และทำงานเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้แบบพิเศษ

 3 years ago 3387

เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: พิพัฒน์ ยุติธรรม

          ผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษ (SENCO) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ครูหรือผู้ที่ทำหน้ารับผิดชอบเรื่องการส่งเสริม ประสานงานในการจัดการเรียนรู้แบบเฉพาะทางให้แก่เด็กที่มีความต้องการในการเรียนรู้ที่พิเศษหรือต้องการการดูแลเฉพาะทางเป็นพิเศษในโรงเรียน ซึ่งในบางประเทศ อย่างเช่น ประเทศอังกฤษนั้นจะมีครูที่ดูแลเด็กผู้มีความต้องการการดูแลเป็นพิเศษอย่างน้อยโรงเรียนละ 1 คน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง และเด็กๆ ได้ว่าจะได้รับการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทักษะได้มีคุณภาพอย่างเหมาะสม  และสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนคนอื่นอย่างมีความสุข

“หน้าที่ของ SENCO คืออะไร”
          ผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษ (SENCO) ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนด้านการเรียนรู้วิชาการตลอดจนการดำเนินชีวิตภายในโรงเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียน ซึ่งหน้าที่ของผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษ (SENCO) นั้นจะเป็นการทำงานร่วมกับนักเรียนโดยตรง จัดการประเมิน ติดตามสภาพจิตใจของเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งช่วยเหลือครูในโรงเรียนจัดสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้นักเรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้และรู้สึกมีความสุขกับการเรียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
          นอกจากนั้นก็ทำหน้าที่สื่อสารให้ข้อมูลพฤติกรรม และพัฒนาการของนักเรียนขณะอยู่ที่โรงเรียน ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัวของนักเรียนแก่ครอบครัวหรือผู้ดูแลนักเรียนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษจะมีความรู้ความเข้าใจในความต้องการพิเศษเฉพาะทางของนักเรียนที่มีสภาวะไม่ปกติ ลักษณะอาการ และสาเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และการดำรงชีวิต นอกจากบทบาทของ SENCO จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับครู นักเรียนและผู้ปกครองแล้วนั้น SENCO ยังทำงานเป็นผู้ประสานความร่วมมือให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก และจิตวิทยาการเรียนรู้ ได้เข้ามาให้ความรู้และข้อเสนอแก่ผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดู และนำเสนอแนวทางจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพให้แก่ครู เป็นต้น

“ลักษณะนักเรียนแบบใดที่ต้องการการดูแลแบบพิเศษ จาก SENCO”
          นักเรียนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีพัฒนาการเรียนรู้ได้ช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมห้องคนอื่นๆ ที่มีอายุเท่ากัน นักเรียนกลุ่มดังกล่าวจะต้องอาศัยความเข้าใจและความช่วยเหลือจากครู ในการพิจารณามอบหมายภาระงานที่มีลักษณะความยากง่ายเหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน และจำนวนงานไม่มากจนเกินไป เช่น แบบฝึกหัด การอ่านจับใจความ อ่านเก็บข้อมูล อ่านสรุปเรื่องเบื้องต้น การเขียนสะกดคำ เขียนบอกเล่าเรื่องราวอย่างง่าย เป็นต้น นอกจากปัจจัยความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนแล้วนั้น ความสามารถในการสื่อสาร การแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมอย่างเหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญโดยลักษณะที่พบมากในกลุ่มนักเรียนที่มีความผิดปกตินั้น ได้แก่ โรคความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรม (EBD) กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางการทำงานของระบบประสาท ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและมีปัญหาด้านพัฒนาการทางการพูดหรือการสื่อสารที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคกลุ่มออทิสติค (Autistic spectrum disorders) โรคสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ (Attention-deficit hyperactivity disorder: ADHD) หรือมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น โรคทางจิตใจของผู้ที่บกพร่องด้านความสามารถในการอ่านหนังสือ (Dyslexia) เป็นต้น ซึ่งครูและผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษจะต้องคำนึงถึงวิธีการแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนที่เหมาะสมต่อไป

“แนวทางการสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการด้านการศึกษาเป็นพิเศษ”
          การส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้ประสบผลสำเร็จทั้งด้านการศึกษาและการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพได้นั้น ต้องอาศัยแนวทางและการดำเนินการร่วมกันอย่างสอดคล้องระหว่างครู ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษ และครอบครัวของนักเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญได้นำเสนอแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์กับนักเรียนหรือเด็กแต่ละช่วงวัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย ดังนี้
          1. แนวทางส่งเสริมพัฒนาการสำหรับนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กวัยนี้มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครองและครอบครัวเป็นอย่างมาก ครอบครัวจึงต้องมีความใส่ใจและประเมินทักษะการเรียนรู้และเข้าสังคมของเด็กร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้น เช่น การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ความเข้าใจ และจดจำสัญลักษณ์ในชีวิตประจำวันอย่างง่าย การสังเกตทักษะการเข้าสังคมผ่านการเล่นแบบกลุ่ม และเมื่อผู้ปกครองประสบกับปัญหาในการเลี้ยงดู หรือปัญหาพฤติกรรมควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์
          2. แนวทางส่งเสริมพัฒนาการสำหรับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 5 – 15 ปี เด็กในช่วงวัยนี้เริ่มเข้าสังคมและมีความใกล้ชิดกับเพื่อน ครูในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ในการติดตามพัฒนาการของเด็กนักเรียน ผู้ปกครองสามารถพูดคุยปรึกษากับครูหรือผู้ประสานงานจัดการด้านการศึกษารูปแบบพิเศษถึงแนวทางการดูแลส่งเสริมร่วมกันอย่างเหมาะสม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งจัดการอบรมหรือฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม
          3. แนวทางส่งเสริมพัฒนาการสำหรับนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นผู้มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เด็กช่วงวัยนี้ล้วนผ่านการเตรียมพร้อม และพัฒนาทักษะจากครูหรือครอบครัวมาไม่มากก็น้อย ประกอบกับเด็กช่วงวัยดังกล่าวให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนเป็นอย่างยิ่ง การส่งเสริม และสนับสนุนพัฒนาการจึงควรทำความเข้าใจลักษณะอาการความต้องพิเศษของเด็กนักเรียนกับกลุ่มเพื่อนนักเรียนอีกด้วย หากเพื่อนร่วมชั้นเรียนเข้าใจให้ความช่วยเหลือเล็กน้อยทางการเรียนและการใช้ชีวิต การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมชั้นจะช่วยให้นักเรียนผู้มีปัญหาด้านการเรียนรู้ รวมทั้งปัญหาพฤติกรรมต่างๆ มีแนวโน้มพัฒนาการที่ดีมากยิ่งขึ้น

          แนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะด้านนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนร่วมกับนักเรียนหลายฝ่าย ทั้งครอบครัว ผู้ปกครอง ครู ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเพื่อนร่วมชั้น ในการจัดกิจกรรมเสริมสำหรับกลุ่มเล็กๆ หลังเลิกเรียน สนับสนุนให้นักเรียนพิเศษได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมชั้นเรียน และมีกำลังใจในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งฝึกฝนส่งเสริมทักษะการสื่อสาร การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมส่งเสริมทักษะการดำรงชีวิต และการดูแลสุขภาพตนเองในอนาคต

ที่มา
Prosperoteaching. (2018). WHAT IS A SENCO?. เข้าถึงแหล่งข้อมูลวันที่ 4 กันยายน 63 จาก https://prosperoteaching.com/2018/01/what-is-a-senco/

GOV.UK (Government of the United Kingdom). (2014). Special educational needs support. วันที่เข้าถึงแหล่งข้อมูล 4 กันยายน 63 จาก https://www.gov.uk/children-with-special-educational-needs/special-educational-needs-support


TAG: #การศึกษาพิเศษ #เด็กพิเศษ #SENCO