Knowledge

ปัญหาของนักเรียนคือสิ่งสำคัญที่โรงเรียนต้องดูแล

ปัญหาของนักเรียนคือสิ่งสำคัญที่โรงเรียนต้องดูแล

 2 years ago 5506

อาทิตยา ไสยพร เรียบเรียง

          การเรียนออนไลน์ทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไป เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนอีกครั้งหลังจากสอนนักเรียนนอกห้องเรียนมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เรียนอยู่ที่บ้านสักพักก็เลื่อนระดับชั้นปีที่สูงขึ้น เปลี่ยนช่วงชั้น สอบเข้าโรงเรียนใหม่ สอบเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนหลายคนไม่ได้ประสบปัญหาด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต อารมณ์และสังคมเข้ามาเพิ่มอีกด้วย แล้วโรงเรียนสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างไร ปัญหาดังกล่าวโรงเรียนสามารถดูแลอย่างไรได้บ้าง

1. ใส่ใจสุขภาพจิตของนักเรียน
          เรื่องสุขภาพจิตกับนักเรียน ครอบครัว และครูเป็นสิ่งแรกที่ควรใส่ใจ เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคน โรงเรียนจึงควรมุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างจริงจังไม่ใช่เพียงผิวเผิน ตัวอย่างเช่น ใน New York City โรงเรียนจ้างแพทย์ใหม่มากกว่า 600 คน รวมทั้งนักจิตวิทยาเพื่อดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนและช่วยให้คำแนะนำในการปรับตัวให้เข้ากับการเรียนแบบวิถีใหม่ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคตได้ ส่วนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ มีการเปิดคาบรับฟัง เป็นช่วงเวลาเฉพาะของสัปดาห์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พูดความรู้สึกของตัวเองออกมา และพัฒนาวิธีการรับมือกับความเครียด และความกังวลใจของพวกเขา โดยนำวิดีโอแอนิเมชันมาช่วยให้เด็กบอกสาเหตุของความเครียด และวิธีการรับมือกับความเครียด ขณะที่ครูก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ร่วมอภิปราย และแสดงความคิดอย่างเป็นธรรมชาติ
          จากตัวอย่างดังกล่าว โรงเรียนจึงต้องหาวิธีให้บริการด้านสุขภาพจิตให้แก่ทุกฝ่าย รวมถึงการรักษาและติดตามผลเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถหลุดพ้นจากสภาพจิตอันเลวร้ายและทำหน้าที่ของตนได้มีประสิทธิภาพ

2. อิสระคือกุญแจสำคัญในการสร้างแรงจูงใจ
          เมื่อนักเรียนมีทางเลือกมากขึ้นเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ พวกเขาก็จะมีแรงจูงใจมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รายวิชาการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study : IS) เพราะนอกจากวิชานี้ผู้เรียนจะมีโอกาสได้เลือกเรื่องที่สนใจด้วยตัวเองแล้วยังพัฒนาในหลายทักษะ ทั้งการตั้งคำถาม การตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis Formulation) ทักษะสืบค้นเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย (Searching for Information) ทักษะการคิดวิเคราะห์และการสรุปองค์ความรู้ (Knowledge Formation) ทักษะในการสื่อสาร (Effective Communication) ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เรียนยังได้รู้จักให้บริการสังคมและมีจิตสาธารณะ (Public Service) คือการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ให้กับสังคมอีกด้วย

3.เข้าใจความต้องการของเด็กมากขึ้น
          หนึ่งในตัวแปรความสำเร็จของเด็กในโรงเรียนที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการศึกษา ในช่วงเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองมีโอกาสใหม่ในการเรียนรู้เกี่ยวกับลูกๆ ของพวกเขา ทำให้เข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ ความต้องการ หรือหลักสูตรของลูกดีขึ้น ความเข้าใจเหล่านี้อาจเป็นส่วนช่วยให้โรงเรียนร่วมกันกับผู้ปกครองพิจารณาการประเมินและการศึกษาร่วมกับโรงเรียนได้ ดังนั้นผู้ปกครองสามารถร่วมมือกับโรงเรียนได้ในส่วนของการแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของลูก ทั้งด้านการเรียนและพฤติกรรม

4.ป้องกันการกลั่นแกล้งนักเรียน (แบบไม่รู้ตัว) โดยครูผู้สอน
          นอกจากปัญหาการกลั่นแกล้งระหว่างนักเรียนกับนักเรียนแล้ว อีกส่วนสำคัญคือการกลั่นแกล้งนักเรียนของคุณครูเอง เช่น การเลือกปฏิบัติในห้องเรียนที่คุณครูให้ความสำคัญกับนักเรียนแต่ละคนไม่เท่ากัน เราจึงต้องร่วมกันตระหนักในพฤติกรรมระหว่างที่สอนมากขึ้น โดยเฉพาะทางคำพูดที่สังเกตเห็นได้ชัดมากที่สุด หมั่นสังเกตตัวเองว่าได้ทำพฤติกรรมเหล่านี้ใส่นักเรียนหรือไม่ เช่น ดูถูกหรือข่มขู่นักเรียน พูดให้อับอายต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้นเรียน การใช้คำหยาบคายทางเชื้อชาติหรือศาสนา รวมถึงเรื่อง หรือรสนิยมทางเพศ เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องกลายเป็นเหยื่อผู้ถูกทำร้ายจิตใจทางคำพูดโดยคุณครู โรงเรียนต้องหมั่นสอดส่องดูแลนักเรียนและรีบตักเตือนและให้ความรู้คุณครูที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ทันที

5. ดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
          นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นอีกกลุ่มคนที่ทุกคนในโรงเรียนต้องร่วมกันดูแลและสนับสนุนการเรียนรู้ วิธีที่ครูสามารถช่วยนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเบื้องต้นคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนผ่านการพูดคุย นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมีหลากหลายกลุ่ม มีเรื่องที่คุณครูสามารถช่วยเหลือได้ต่างกันไป จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการได้พูดคุยปัญหากับคุณครู เมื่อคุณครูเข้าถึงนักเรียนมากขึ้นจะสามารถเข้าใจ และรับรู้ความต้องการของนักเรียนความต้องการพิเศษได้มากขึ้น จากนั้นค่อย ๆ สังเกตพฤติกรรมและช่วยประสานงานแก้ปัญหาให้นักเรียนรายบุคคล

          จาก 5 ข้อดังกล่าวโรงเรียนสามารถนำไปปฏิบัติในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาได้ เพราะการเรียนอย่างมีความสุขถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนานักเรียนของเรา ให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากโรงเรียนสามารถดูแลและแก้ปัญหาของนักเรียนได้ตรงตามความต้องการ ไม่ว่าจะการเรียนรูปแบบใด นักเรียนก็สามารถเรียนได้เต็มศักยภาพและพร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

แหล่งอ้างอิง
Abramson, A. (2021, September). Capturing the benefits of remote learning. Monitor on Psychology, 52(6). http://www.apa.org/monitor/2021/09/cover-remote-learning

Bales, K. (2020, June 8). Signs your child's teacher is a bully, ThoughtCo. https://www.thoughtco.com/signs-your-child-s-teacher-is-a-bully-4178674

Branstetter, R. (2020, October 19). How teachers can help students with special needs navigate distance learning. Greater Good Magazine. https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_teachers_can_help_students_with_special_needs_navigate_distance_learning

กนกวรรณ สุภาราญ. (n.d). ทักษะทางการวิจัย และค้นคว้าข้อมูล...ทักษะจำเป็นในการเรียนรู้ออนไลน์ของนักเรียน. EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/365

ซาราห์ ทอมส์. (2564, 26 มิถุนายน). โควิด-19 : โรงเรียนในสิงคโปร์เปิดคาบรับฟัง ช่วยเด็กรับมือความเครียดช่วงโควิด. BBC NEWS ไทย. https://www.bbc.com/thai/international-57607930


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #ปัญหาสุขภาพจิต #แนะแนว #เด็กพิเศษ #สุขภาพจิต #อารมณ์และสังคม #SEL #Social Emotional Learning #Bullying #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะศตวรรษที่21 #การเรียนรู้ออนไลน์ #Bullyลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน #Cyberbully