Knowledge

เช็กให้ชัวร์ อย่ามัวแต่แชร์ หยุดข่าวปลอม Fake News

เช็กให้ชัวร์ อย่ามัวแต่แชร์ หยุดข่าวปลอม Fake News

 2 years ago 3178

เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี

          “อย่าพึ่งแชร์ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง” ทุกวันนี้ทั้งครูอย่างเรา และนักเรียนของเราสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทั่วโลก เพราะปัจจุบันข้อมูลข่าวสารทั่วทุกมุมโลกได้ถูกรวบรวมไว้ในเครื่องมือสื่อสารและส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วทันใจ การจัดเรียนการสอนปัจจุบันจึงเป็นไปได้อย่างสะดวก นักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากสื่อต่าง ๆ โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) แต่แน่ใจแล้วหรือ ว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ข่าวปลอม (fake news) หรือ ข้อมูลผิด ๆ ที่มีผู้เขียนไว้

          ในพื้นที่ที่มีความพร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์การสื่อสาร ไม่ว่าจะเวลาไหน นักเรียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา แต่การเรียนรู้นั้นอาจไร้ประสิทธิภาพ เมื่อได้รับข่าวสารที่เป็นเท็จ หรือข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัว เรามีวิธีในการป้องกันไม่ให้นักเรียน รวมทั้งกลุ่มครูต้องตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม 5 วิธี ดังนี้
1. เช็กที่มาของแหล่งข่าว โดยพิจารณาว่ามีแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากพบแหล่งข่าวเพียงแหล่งเดียว ก็อาจจะมีแนวโน้มว่า ข่าวนั้นอาจจะเป็นข่าวปลอม
2. สังเกตอายุของแหล่งข่าว โดยมีปุ่ม about this content บน Facebook ที่สามารถบอกให้เราทราบอายุการลงทะเบียนข้อมูล ที่มา หรือองค์กรที่ลงข่าวนั้น ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดยข่าวที่น่าเชื่อถือมักมีอายุการลงทะเบียนข่าวที่นาน
3. ตรวจสอบการสะกดของURL ให้รอบคอบ เช่น เว็บไซต์มติชนที่ถูกต้องคือ https://www.matichon.co.th หากพบเจอเว็บไซต์ที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยเพิ่มตัวอักษรเข้าไป https://www.matichron.co.th แสดงให้เห็นว่าเว็บนี้เป็นเว็บปลอมก็อาจจะทำให้เรารับข่าวสารที่ผิดเพี้ยนมาจากเว็บปลอมดังกล่าวได้อีกด้วย
4. ตรวจสอบภาพ โดยเข้าไปที่เว็บ https://images.google.com เพื่อตรวจสอบประวัติของข้อมูลประเภทรูปภาพได้
5. นำข่าวไปตรวจสอบที่เว็บไซต์ หรือศูนย์ให้บริการตรวจสอบข่าว เช่น https://www.antifakenewscenter.com

         การตรวจสอบข่าวข้างต้นเป็นวิธีที่มีผู้นำมาปรับใช้มากมาย อย่างไรก็ตามการมีสติในการเสพข่าวสาร เป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันให้ครู และนักเรียนไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมได้เช่นกัน การรู้เท่าทันสื่อต่าง ๆ ที่มีหลากหลายรูปแบบจึงมีความสำคัญ เพราะหากเรารับข่าวสารที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน และที่สำคัญก่อนที่เราจะแชร์ข่าวสาร หรือนำข่าวมาพูดคุยต่อหน้าสาธารณชน ควรตรวจสอบจากวิธีที่ได้แนะนำมาข้างต้นก่อน เพราะการแชร์ข่าวปลอมนอกจากจะสร้างความเสียหายดังกล่าวแล้ว ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         แม้กระทั่งการทำโครงงาน หรือรายงานของนักเรียนที่ต้องนำเสนอต่อหน้าสาธารณชน ข้อมูลที่รวบรวมมานั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ผ่านการตีความ และไตร่ตรองมาอย่างละเอียด ก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลนั้นสู่สาธารณชน ดังนั้นครูผู้สอนจึงมีหน้าที่แนะนำการตรวจสอบข้อมูล หรือการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้นักเรียนไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม และครูก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกพิจารณารับข่าวสาร เพราะหากเกิดการแชร์ข่าวมั่ว ไม่เพียงแค่ครูเท่านั้นที่อาจหมดความน่าเชื่อถือ แต่ยังส่งผลไปถึงผู้รับข่าวสารที่อาจจะเกิดการส่งต่อคล้ายกระบวนการลูกโซ่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันในวงกว้าง ดังนั้นก่อนจะแชร์ข้อมูลข่าวสารใด ๆ ควรมีสติและตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ทุกครั้ง

แหล่งอ้างอิง
REAL or FAKE? ข่าวปลอมออนไลน์ สังเกตอย่างไร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3gO2e4O (สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2564)

iT24Hrs. (2563). 5 วิธีตรวจสอบข่าวปลอม Fake News | DGTHh. YouTube, https://www.youtube.com/watch?v=p-PtKBqXKZI [สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2564


TAG: #Fake News #หยุดข่าวปลอม #Internet literacy #การรู้เท่าทันสื่อ