Knowledge

คุณครู กับ การเป็น Facilitator (8:5:6)

คุณครู กับ การเป็น Facilitator (8:5:6)

 2 years ago 16382

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร

          เมื่อเราพูดถึงบทบาทหน้าที่ของคุณครู เราจะนึกถึงหน้าที่ในการสอน หรือการจัดการเรียนรู้เป็นหลักใช่ไหมคะ แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ การสร้างทัศนคติทางบวกให้นักเรียนมีต่อวิชาที่กำลังเรียนรู้ หากนักเรียนอยู่กับความรู้สึกทำไม่ได้ เก่งไม่พอ สิ่งเหล่านั้นจะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกไม่ชอบการเรียนวิชานั้น ๆ ไปได้ ทั้งนี้เรามาร่วมหาวิธีสนองความต้องการเรียนรู้ของนักเรียนร่วมกันโดยการเพิ่มบทบาทการเป็น Facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวกให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาสาระความรู้ได้ง่ายกันดีกว่า

Learning Facilitator (ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้) คือ ใคร
          Facilitator คือ ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดชุดความรู้ใหม่ขึ้นจากภายในจิตใจของผู้เรียนเอง ชุดความรู้ใหม่นั้นมีได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น มุมมองใหม่ ความหมายใหม่ ความรู้สึกใหม่ ความคุ้นชินใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่หรือกรอบความเชื่อใหม่ ที่สำคัญต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน และเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รวมไปถึงการเป็น Facilitator ที่ดีสิ่งที่ต้องมีคือทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างลึกซึ้งอันประกอบด้วยการได้ยินความรู้สึก และความต้องการของอีกคน ตั้งใจด้วยหัวใจ เข้าอกเข้าใจ ไม่จับผิดตัดสิน

8 ทักษะที่จำเป็นสำหรับ facilitator ประกอบด้วย
1. ทักษะการฟัง (Listening)
2. ทักษะการตั้งคำถาม (Questioning)
3. ทักษะการให้โอกาสแลกเปลี่ยนความคิด (Sharing)
4. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)
5. ทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้ง (Resolving Conflict)
6. ทักษะการยอมรับผู้อื่น (Accepting Others)
7. ทักษะการนำเข้าสู่การอภิปราย (Leading)
8. ทักษะการบริหารเวลา (Time Management)

          นอกจากทักษะทั้ง 8 ด้านที่กล่าวไปข้างต้นแล้วการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้นั้นมี 5 Key Principles ที่คุณครูผู้ทำหน้าที่ Facilitator จะสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยสร้างให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ได้แก่ 1) Esteem รักษาและเพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเอง 2) Empathy ฟังและตอบสนองอย่างเข้าอกเข้าใจ 3) Involvement สนับสนุนการมีส่วนร่วม 4) Share แลกเปลี่ยนแบ่งปันเพื่อสร้างความไว้ใจ และ 5) Support เสนอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

          อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือ 6 Key Actions หลักการสอนในรูปแบบ Facilitation ที่จะช่วยให้คุณครูทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่
1) ใช้ Key Principles ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกมีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน
2) เชื่อมั่นในวิชาที่สอน แสดงออกถึงความเชื่อส่วนบุคคล ในแนวคิด เครื่องมือ และเนื้อหาที่สอน หรือกิจกรรมที่ทำ
3) อธิบายวัตถุประสงค์ของหลักสูตร/วิชา รวมถึงเครื่องมือ กิจกรรม ที่ใช้ในการสอน
4) ใช้ทักษะการสังเกตและวัดผล ครูต้องมั่นใจว่าผู้เรียนมีความเข้าใจตรงกันในสาระสำคัญตามหัวข้อที่กำหนดในเวลาที่กำหนด
5) เน้นไปที่ประโยชน์ส่วนตนของผู้เรียน ทั้งประโยชน์ของการใช้แนวคิด ทักษะ เครื่องมือที่ได้จากการเรียนไปใช้ในการทำงาน และ
6) มีความชัดเจนในการนำกิจกรรมต่าง ๆ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในการอธิบายถึงกิจกรรมว่าต้องทำอะไร อย่างไร และเมื่อไร

          จากคำแนะนำข้างต้นเห็นได้ชัดเลยนะคะว่า คุณครูนั้นไม่ได้เพียงแค่สร้างองค์ความรู้และสนับสนุนการเรียนรู้แก่นักเรียนเท่านั้น แต่คุณครูนั้นยังมีบทบาทไปถึงการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ในแบบของตัวเองได้อีกด้วย

เชื่อเลยว่าในอนาคต
บทบาทของคุณครูในโรงเรียนจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้นักเรียนได้อีกมากมาย
ไม่เพียงแค่การเป็นครูเพื่อสอนความรู้อย่างเดียวอีกต่อไป

แหล่งอ้างอิง
ธีรัญญ์ รัน. (2021, January 22). ผู้เอื้ออำนวยกระบวนการเรียนรู้ : Learning facilitator. runWISDOM.com. https://www.runwisdom.com/2018/07/learning-facilitator

กชวร จุ้ยมณี.(2563). เอกสารประกอบการสอนบทบาทหน้าที่และทักษะที่จำเป็นของนักจัดกระบวนการเรียนรู้, หน้า 1-29.; กชวร จุ้ยมณี,  26พฤษภาคม 2564

วัลยา ธเนศพงศ์ธรรม. (2564). บทบาทของ Facilitator. 27 พฤษภาคม 2564,จาก  http://cms2.swu.ac.th/Portals/195/บทบาทของ%20facilitator3กค57wanlaya.pdf

Tham namprom. (2563). Facilitating Learning… เปลี่ยนครู ให้ไปดูแลขั้นตอนที่เรียนรู้ง่าย. 27 พฤษภาคม 2564,จาก  https://reder.red/facilitating-learning-06-07-2020/


TAG: #Learning Facilitator #Facilitator #ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ #ผู้อำนวยความสะดวก #ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้