Knowledge

ครูเป็นศูนย์กลางหรือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง : วิธีการสอนแบบใด...ซื้อใจนักเรียน

ครูเป็นศูนย์กลางหรือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง : วิธีการสอนแบบใด...ซื้อใจนักเรียน

 5 months ago 4258

วัลลภาภรณ์ พานทอง

          หน้าที่หลักสำคัญของการเป็นครูผู้สอนคือการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในการจัดการเรียนการสอนนั้นครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของตนเองเพื่อให้นักเรียนเกิดการสร้างความคิดรวบยอดจนนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญในการเรียนคือการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน

ครูพูด ครูทำ ครูสอน
          แม้ว่าจะมีการสนับสนุนให้คุณครูออกแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย แต่ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิธีการสอนที่ได้รับความนิยมของครูส่วนใหญ่ มักจะไม่เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง แต่เป็นการสอนที่เน้นให้นักเรียนจดตามสิ่งที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดให้ เพราะช่วยให้ประหยัดเวลาสำหรับเตรียมสื่อการสอนของครูและสามารถสอนเนื้อหาได้ทีละมาก ๆ รวมทั้งยังสามารถส่งต่อความรู้หรือเนื้อหาที่มีความเป็นนามธรรมสูงหรือซับซ้อนให้ง่ายมากขึ้นด้วยการอธิบายให้นักเรียนฟัง ซึ่งวิธีการสอนในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การสอนแบบครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-centered method)
          ด้วยการที่ครูเป็นผู้จัดและดำเนินการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ เช่น เป็นผู้วางแผน ดำเนินการ และปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวของครูเอง จึงเป็นการสื่อสารทางเดียวที่นักเรียนมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นด้วย ตัวอย่างวิธีการสอน เช่น การบรรยาย การอธิบาย การสาธิต ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถเร้าความสนใจนักเรียนได้เท่าที่ควรและนักเรียนอาจเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนเป็นสาเหตุให้การจัดการเรียนการสอนไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แล้ววิธีการสอนแบบใดที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยตนเอง ?

ครูเป็นศูนย์กลางหรือนักเรียนเป็นศูนย์กลางวิธีการสอนซื้อใจนักเรียน

การส่งไม้ต่อให้นักเรียนได้ลงมือเรียนรู้ด้วยตนเอง
          วิธีการสอนในอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการจัดการเรียนรู้ด้วยการให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรม กำหนดแนวคิด วางแผน ดำเนินการศึกษา ประเมินผล และค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง โดยครูมีบทบาทเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ให้ข้อเสนอแนะ กำลังใจหรือช่วยเหลือเมื่อนักเรียนเกิดปัญหา ส่งผลให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ตรงจากการแก้ปัญหาตามสภาพจริงจนนำไปสู่ทัศนคติที่ดีต่อการเรียน มีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้ (Active) เกิดความสนุกสนาน และสามารถพัฒนาทักษะการคิดชั้นสูง คือ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล ส่งเสริมให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต วิธีการสอนในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered method)
          ตัวอย่างวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนักเรียนเป็นศูนย์กลางที่ได้รับความนิยม คือ การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือรวมพลัง (Collaborative learning) บทบาทสมมติ (Role play) การทดลอง (Experimental method) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) เป็นต้น โดยการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาทักษะกระบวนการกลุ่มจากการทำงานเป็นทีมร่วมกับนักเรียนคนอื่น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ต้องการบอกว่า วิธีการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางจะให้ผลลัพธ์ที่เป็นลบเสมอไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกว่าวิธีการสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลางจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป เนื่องจากวิธีการสอนทั้งสองรูปแบบล้วนสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนได้ หากคุณครูพิจารณาเลือกใช้วิธีการสอนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเนื้อหาสาระวิชา รวมทั้งคำนึงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละระดับชั้นและห้องเรียน หรือธรรมชาติในการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละช่วงวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อ้างอิง
Aremu, A., & Salami, I. A. (2013). Preparation of primary teachers in pupil-centered activity-based mathematics instructions and its model. In Proceeding of 1st Annual International Interdisciplinary Conference (pp. 356-371). European Scientific Institute Publishing.

ภาริมา วินิธาสถิตกุล และชนินันท์ แย้มขวัญยืน. (2565). การเรียนรู้เชิงรุก: แนวทางการเรียนการสอนที่เป็นเลิศ ในศตวรรษที่ 21. วารสารนวัตกรรมการศึกษาและการวิจัย, 6(3), 921-933. https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jeir/article/view/262165


TAG: #วิธีการสอน #การจัดการเรียนรู้แบบครูเป็นศูนย์กลาง #การจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #การบรรยาย #การสาธิต #การอธิบาย #ผู้อำนวยความสะดวก #บทบาทสมมติ #Facilitator #Teacher-centered method #Student-centered method