Knowledge

“คำแนะนำ” สำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้เหนือสิ่งอื่นใด

“คำแนะนำ” สำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้เหนือสิ่งอื่นใด

 2 years ago 1661

เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

          เชื่อว่าครูหลายคนประสบความยากลำบากในการประเมินการเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์ ด้วยสภาพการเรียนการสอนทางไกลที่ครูอยู่ห่างกับนักเรียน ครูจึงไม่ได้สังเกตกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างใกล้ชิดมากนัก ขณะเดียวกันการประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะนักเรียนแต่ละคนไม่ได้อยู่รวมกันในสภาพแวดล้อมเดียวกัน และมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดความหลากหลายและซับซ้อน เช่น แรงจูงใจของนักเรียนแต่ละคน และสภาพแวดล้อม ความพร้อมที่แตกต่างกัน เป็นต้น ครูและนักเรียนจึงต้องทำหน้าที่ช่วยกันประเมินซึ่งกันและกัน เพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการสอนของครูและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำแนะนำจากครูถึงนักเรียน
          การเรียนในห้องเรียนตามปกติ เมื่อนักเรียนส่งชิ้นงานไปแล้ว ครูมักไม่ได้ให้คำแนะนำเพื่อให้นักเรียนปรับปรุงหรือแก้ไขชิ้นงานต่อไป ปล่อยให้นักเรียนตีความเอาเองจากคะแนนที่ได้ หรือนักเรียนอาจไม่ได้ทราบคะแนนในชิ้นงานของตัวเองเลยด้วยซ้ำ นักเรียนอาจทราบแค่ว่าตนเองได้ส่งงานครบตามภาระงานแล้วหรือไม่ ซึ่งนั่นไม่ใช่วิถีการเรียนการสอนที่ถูกต้อง เพราะนักเรียนจะขาดการพัฒนาจากครู และไม่ทราบถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของตนเองในรายวิชานั้น ๆ เลย
          การให้คำแนะนำจากครูถึงนักเรียนเป็นรายชิ้นงานจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำเสมอ ยิ่งการเรียนออนไลน์ที่ครูและนักเรียนได้พบปะกันน้อยครั้ง ทำให้คำแนะนำจากครูถึงนักเรียนย่อมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นักเรียนมองเห็นแนวทางการพัฒนาตนเองผ่านการปรับปรุงชิ้นงานและจะช่วยให้นักเรียนพัฒนาความรู้ในเรื่องนั้นได้ด้วย ทั้งนี้ การให้คำแนะนำจำเป็นจะต้องให้เป็นรายจุดอย่างชัดเจน โดยไม่ใช้คำแนะนำเชิงตำหนิติเตียน แต่เป็นการบอกข้อสงสัยที่เกิดจากข้อผิดพลาดให้นักเรียนทราบ
          รองศาสตราจารย์ Jennifer Hurley อาจารย์ประจำวิทยาลัย Ohlone รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในบทความส่วนตัวว่า “การแนะนำเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้ประเมินตนเอง จะช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนความมุ่งหมายจากการทำตามคำสั่งให้พอผ่านเพียงอย่างเดียว มาเป็นการฝึกฝนพัฒนาตนเอง” การแนะนำที่สร้างสรรค์จากครูยังจะช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนเกิดความมั่นใจในการสร้างชิ้นงานต่าง ๆ และเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาสร้างสรรค์งานได้อย่างเต็มที่

คำแนะนำจากครูถึงตัวเอง
          การประเมินตนเอง (Teacher Self Evaluation) เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพวิชาชีพครู เพื่อนำข้อดีและข้อเสียของการสอนในแต่ละครั้งไปพัฒนาออกแบบเป็นการเรียนรูปแบบใหม่สำหรับการสอนครั้งต่อไป ขอยกตัวอย่าง 1 วิธี นั่นคือ การประเมินตนเองด้วยการสะท้อนคิด (Reflection) ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีการที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจที่สุด (Bullard, 1998)
          กระบวนการสะท้อนคิด ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์สอนจริง (Wear & Harris, 1994; Wilson, Shulman, & Richert, 1987) และเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพพอสมควร เพราะสามารถทำได้ทันทีหลังการสอน อีกทั้งครูยังได้รับข้อมูลที่หลากหลายจากนักเรียนหลายกลุ่ม พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลการลงมือทำระหว่างเพื่อนครูได้ด้วย เพื่อนำ Best Practice มาปรับใช้ในคาบเรียนของตนเอง หนึ่งในกระบวนการสะท้อนคิดที่น่าสนใจ คือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) ในห้องเรียน เช่น การค้นหาวิธีให้เด็กมีแรงจูงใจในการสนทนาภาษาอังกฤษในคาบเรียนมากขึ้น เป็นต้น โดยมี 6 ขั้นตอน ดังนี้ (Sagor, 1997)
1. การกำหนดปัญหา (Formulating a problem)
2. การวางแผนรวบรวมข้อมูล (Planning for data collection)
3. การรวบรวมข้อมูล (Collecting data)
4. การวิเคราะห์ข้อมูล (Analyzing data)
5. การรายงานผล (Reporting results)
6. การลงมือทำ (Taking action)
          การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ช่วยพัฒนานิสัยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์ของครู และพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญในการเป็นทั้งครูและนักการศึกษาที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำที่ครูให้แก่นักเรียน หรือครูให้แก่ตัวเอง ล้วนมีความสำคัญมากต่อกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง สำคัญยิ่งกว่าคะแนนต่าง ๆ คำแนะนำเปรียบเสมือนแนวทางที่จะช่วยให้กระบวนการเรียนการสอนเข้าที่เข้าทางมากขึ้น อย่างน้อยยังคงช่วยให้กระบวนการเรียนการสอนมีคุณภาพต่อไป แม้แต่ในช่วงสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบการศึกษาก็ตาม

แหล่งอ้างอิง
Student Self-Feedback: One Key to Gradeless Classrooms, จาก https://profhurley.medium.com/student-self-feedback-one-key-to-gradeless-classrooms-4d42d43349a8 (สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2564)

Teacher Self-Evaluation. จาก https://files.eric.ed.gov/fulltext/ED428074.pdf (สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564)
เพิ่มเติมจากนักเขียน: งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่ดีมากครับ รวบรวมข้อมูลแนวคิดและวิธีการประเมินตนเองของครูเอาไว้เยอะมาก อยากให้คุณครูได้ลองอ่านกันครับ


TAG: #การวัดและประเมินผล #การประเมินตนเอง #Teacher Self Evaluation #การสะท้อนคิด #Reflection