Knowledge

SLC Researcher Diary – Log #01 ว่าด้วย inquiry : ครูเป็นผู้นำการสืบสอบหรือผู้ออกแบบให้สืบสอบ

SLC Researcher Diary – Log #01 ว่าด้วย inquiry : ครูเป็นผู้นำการสืบสอบหรือผู้ออกแบบให้สืบสอบ

 11 months ago 2252

วรเชษฐ แซ่เจีย

          ช่วงกลางปี 2565 ผู้เขียนได้ติดตาม ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ อ. ดร.กรกนก เลิศเดชาภัทร จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปเข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

รายละเอียดเกี่ยวกับชั้นเรียน
          ชั้นเรียนนั้นเป็นวิชาเคมี ระดับชั้น ม.ปลาย แผนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนได้ออกแบบใบงานมา 1 ชุด มี 2 หน้ากระดาษ มีจุดประสงค์เพื่อทบทวนความรู้เดิมก่อนจะเพิ่มเติมความรู้ใหม่ในคาบต่อไป แต่ลักษณะเด่นของใบงานนั้นก็คือ เป็นตารางเปล่า ให้นักเรียนเขียนระหว่างเรียน ตามที่คุณครูจะปล่อยคำถามเป็นลำดับ กิจกรรมดำเนินไปโดยนักเรียนจะได้เติมคำตอบและอภิปรายเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับคอนเซ็ปต์พื้นฐานเรื่องอะตอมและคุณสมบัติทางอนุภาคต่าง ๆ
          ที่ผู้เขียนหยิบยกชั้นเรียนนี้มาเล่าสู่กันฟังกับผู้อ่าน เป็นเพราะในช่วงการสะท้อนคิด (reflection) หลังการสังเกตชั้นเรียนนั้น มีคำคำหนึ่งที่สะดุดใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก นั่นคือ “การสืบสอบ” เพราะชั้นเรียนนี้ คุณครูมีการยิงคำถามใส่นักเรียนทั้งห้องอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้เดิมด้วยกันกับเพื่อน และยังได้ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นผ่านการเขียน
          อย่างไรก็ตาม ผศ. อรรถพล ได้ชวนให้คิดถึงว่า การสรุปความคิดที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนั้น เกิดจากการที่ครู (1) ส่งเสริมให้วิเคราะห์ (2) นำด้วยคำถามไปสู่การวิเคราะห์ หรือ (3) วิเคราะห์ให้ฟัง เพราะแม้จะมีคำว่าวิเคราะห์เหมือนกัน แต่บทบาทของครูและนักเรียนมีสัดส่วนที่ไม่เท่ากันแน่นอน ซึ่งจาก 3 ข้อข้างต้นนั้นก็มีระดับความยากง่ายแตกต่างกันไปด้วย

การสืบสอบที่ควรเป็นมีลักษณะอย่างไร
          การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ หรือ Inquiry-based Learning (IBL) เป็นหนึ่งในวิธีการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง และสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปใช้แก้ปัญหาได้ ซึ่งก่อนจะดำเนินการหาข้อมูล ครูผู้สอนมีหน้าที่ติดอาวุธทางความคิด นั่นคือชุดคำถามสำคัญหรือความสามารถในการตั้งคำถามที่ดี ก่อนจะไปค้นหาคำตอบที่ตรงประเด็น และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกวิชา ไม่จำกัดเพียงวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น
          โดยทั่วไป แต่ละแผนการสอนในแต่ละบทเรียนจะมีเป้าหมายที่ครูผู้สอนตั้งใจจะไปให้ถึง บางโอกาสที่ครูถามคำถามเท่าไร นักเรียนก็ไม่ตอบกลับมา ครูอาจใจร้อนอยากให้นักเรียนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จนเลือกอธิบายให้ฟังตรง ๆ ไปจนถึงขั้นเฉลยคำตอบ หากนั่นเกิดขึ้นกับชั้นเรียนของคุณครูบ่อย ๆ ก็คงน่าเสียดายที่ชุดข้อมูลดังกล่าวแม้จะถูกจดลงสมุด หรือมีการพูดย้ำในบทเรียนอื่น ๆ ด้วย แต่นักเรียนก็ไม่สามารถจดจำหรือเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้ เพราะไม่ได้เกิดจากการขวนขวายค้นหาข้อมูล การให้เหตุผล นำไปสู่ข้อสรุปที่เกิดด้วยภาษาและความเข้าใจของตนเอง ฉะนั้นหากรีบร้อนสอนให้ครบก็อาจจะไม่ทำให้เกิดการสืบสอบอย่างที่ครูตั้งใจไว้
          Mark Baildon นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของสถาบันแห่งชาติด้านการศึกษา (NIE) ประเทศสิงคโปร์ เสนอว่ากลยุทธ์การใช้คำถามในชั้นเรียนนั้นควรเป็นไปเพื่อช่วยให้นักเรียนได้คิดจากหลากหลายแง่มุมก่อนสังเคราะห์ร่วมกันกับประสบการณ์เดิม จนสรุปออกมาเป็นข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลตามจุดยืนของตนเอง
          3 รูปแบบของการใช้คำถามที่ ผศ. อรรถพล เสนอไว้ข้างต้นนั้น จึงเป็นข้อเตือนใจสำหรับคุณครูทุกคนที่จะชวนให้ครูย้อนกลับมาคิดในขณะที่สอนว่า เรากำลังส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนนั้นจริงหรือไม่ และยังชวนให้กลับมาทบทวนและทำความเข้าใจผู้เรียนของตนว่ามีความแตกต่างกัน นำไปสู่การออกแบบบทเรียนที่มีความเฉพาะตัว แต่ก็มีความหมายสำหรับพวกเขาด้วย

อ่านบทความตอนที่ 2 SLC Researcher Diary – Log #02 รู้จักแนวคิด slow pedagogy – แค่สอนก็ไม่ทันอยู่แล้ว จะรอให้นักเรียนตอบได้อย่างไร

แหล่งข้อมูลประกอบการเขียน
Baildon, M. (2021). Research findings on inquiry in classrooms: Implications for teaching and learning. OER Knowledge Bites Volume 15 (pp. 5–6). Singapore: National Institute of Education.

Department of Education, Australian Government. (n.d.). Inquiry-based Learning. https://www.education.gov.au/australian-curriculum/national-stem-education-resources-toolkit/i-want-know-about-stem-education/what-works-best-when-teaching-stem/inquiry-based-learning

ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์. (ม.ป.ป.). สร้างนักวิทยาศาสตร์ตัวจิ๋วได้ตั้งแต่ปฐมวัย ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning). EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/401

ภาพจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


TAG: #SLC #SLC Diary #Researcher Diary #inquiry #inquiry-based learning #การคิดแบบสืบสอบ #การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ #การสะท้อนคิด #โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #Schoolaslearningcommunity