Knowledge

พัฒนาทักษะการสื่อสารและการคิดอย่างร่วมมือ ด้วยการดีเบต (debate) ในห้องเรียน

พัฒนาทักษะการสื่อสารและการคิดอย่างร่วมมือ ด้วยการดีเบต (debate) ในห้องเรียน

 11 months ago 4867

วรเชษฐ แซ่เจีย

         ในห้วงเวลาของการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ณ เวลาที่เขียนอยู่นี้ (เม.ย. 2566) คุณครูหลายท่านคงได้เห็นข่าวสารและเนื้อหาเกี่ยวกับการดีเบตของผู้สมัครและตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ อยู่บ้าง ทั้งสาระที่เข้มข้น การปะทะคารมที่ดุเดือด และคงมีไม่น้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจ อยากนำไปใช้ในห้องเรียนจริงในปีการศึกษาที่จะมาถึง แต่รู้หรือไม่ว่ารูปแบบการถกเถียงและประเด็นการสนทนาแบบที่เห็นกันอยู่นี้อาจไม่เหมาะกับบริบทห้องเรียนก็ได้ เพราะบรรยากาศและเป้าหมายของการสื่อสารของทั้งสองบริบทนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ดีเบตกันในห้องเรียนแล้วดีอย่างไร
         การดีเบต (debate) หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ การโต้วาที นั้นมีลักษณะเป็นการจัดกลุ่มนักเรียนเพื่อถกกันในประเด็นหรือญัตติที่กำหนดขึ้น โดยมักเป็นประเด็นที่ท้าทายความคิดหรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมนั้น ๆ ยึดถือ ทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันประชันเหตุผลกันอย่างสนุกสนาน
         ประเด็นหนึ่งที่คนทั่วไปเข้าใจมักเข้าใจผิด นั่นคือ การดีเบตเป็นเทคนิคการสอนที่มักใช้ในวิชาเกี่ยวกับภาษาหรือสังคมศึกษาสำหรับนักเรียนที่โตแล้วเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นสามารถนำไปใช้ได้ไม่จำกัดวิชา และยังปรับเปลี่ยนเนื้อหาและโทนของกิจกรรมให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่มได้
         ในส่วนของการดีเบตนั้นมีประโยชน์มากมาย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการพัฒนาทักษะการสื่อสารของนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมอย่างรอบด้าน ทั้งการตั้งคำถาม การนำเสนอความคิด การโน้มน้าวใจ และหากใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสาร ก็จะเป็นโอกาสที่จะได้ใช้ภาษานั้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การดีเบตไม่ได้เปิดโอกาสให้พัฒนาแค่การพูดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟัง การจดบันทึกและสรุปประเด็นของฝ่ายตรงข้าม การสืบค้นข้อมูล การรู้เท่าทันสื่อ การประมวลข้อมูลทั้ง วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
          ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมไปถึงมิติทางด้านจิตวิทยา ทั้งการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และความมั่นใจในตนเองด้วย โดยปลายทางที่จะทำให้การดีเบตในบริบทห้องเรียนนั้นมีประโยชน์สูงสุด ก็คือการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายแบบประชาธิปไตยนั่นเอง

ความท้าทายของการนำการดีเบตมาใช้ในการสอน
          อย่างไรก็ตาม ภาพจำของการดีเบตบนเวทีที่มีนักการเมืองจากหลากหลายพรรคบนเวทีเดียวกัน แสดงวิสัยทัศน์ที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น จะเน้นการนำเสนอว่าวิธีการและแนวคิดของตนนั้นดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และแสดงวาทศิลป์และการแสดงความคิดเพื่อเอาชนะ มากกว่าการถกกันทางความคิด ภายใต้เวลาที่จำกัด หรืออาจเปิดเวทีให้พูดคุยและขัดกันได้โดยตรง ซึ่งหากนำไปใช้ในบริบทห้องเรียน อาจทำให้การดีเบตนั้นมีแต่เสียงของนักเรียนที่ชอบเอาชนะและเสียงดังเพียงเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดบทสนทนาที่ชวนให้ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ฟังคิดตามอย่างที่ควรจะเป็น
          ทั้งในบางครั้งประเด็นอาจมีแนวโน้มที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างชัดเจน เพราะข้อเสนอที่ขัดกับหลักการที่ยึดถือโดยทั่วไป เช่น การแต่งชุดนักเรียน การนับถือศาสนา ฯลฯ มักกลายเป็นสถานการณ์ท้าทายที่จะโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผลและทำให้คล้อยตามได้ยาก
          ในเวลาต่อมา จึงมีข้อเสนอถึงแนวทางการดีเบตที่เน้นการตั้งคำถามต่อสถานการณ์หรือประเด็นปัญหาจริง ๆ ในสังคม ไม่ว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ปัญหาการใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อนำมาสู่ข้อเสนอหรือทางออกที่มีความเป็นไปได้หลากหลายร่วมกัน ในวิธีการนี้จะให้ความสำคัญในการปรับหัวข้อการดีเบตจาก ถูก/ผิด ควร/ไม่ควร หรือแบบขั้วตรงข้ามในประเด็นที่ดุเดือด ให้เป็นการสานสนทนาเพื่อหาทางออก เพื่อตอบคำถามว่า “อย่างไร” นำไปสู่การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อหาทางเลือกร่วมกัน เรียกว่า Collaborative Deliberation และไม่ลืมที่จะเปิดช่องให้วิพากษ์และประเมินความคิดซึ่งกันและกันด้วย

  • ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการดีเบตจะแตกต่างจากแง่มุมเดิม ๆ เช่น

    • จาก “นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบ ควรกำหนดให้เป็นกฎหมาย” เป็น “ทางเลือกของการสวมเครื่องแต่งกายของนักเรียนไทยควรเป็นอย่างไร”
    • จาก “ประชาธิปไตยของเราควรยอมให้มี hate speech หรือไม่” เป็น “ทำอย่างไรจึงจะปกป้องคนกลุ่มเปราะบางจากการโจมตีทางคำพูด”
    • จาก "การขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทำร้ายทะเลมากกว่าให้ประโยชน์" เป็น "มนุษย์ควรทำอย่างไรให้มีพลังงานฟอสซิลอย่างยั่งยืนโดยทำร้ายธรรมชาติให้น้อยที่สุด"

การเตรียมนักเรียนก่อนคิดจะเริ่มดีเบต
          การดีเบตนอกจากจะช่วยให้เห็นแง่มุมที่หลากหลายต่อเรื่องราวหนึ่ง ๆ แล้ว ยังเป็นการฝึกให้นักเรียนไม่ด่วนตัดสิน และเลือกที่จะรับฟังอย่างใจเย็นด้วยน้ำเสียงและแง่คิดของเพื่อนก่อนด้วย แต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้นั้นก็ต้องเตรียมนักเรียนให้พร้อมรับมือกับความสนุกและท้าทายนี้ให้ได้ด้วย
          ข้อควรคำนึงประเด็นหนึ่งก่อนเริ่มดำเนินกิจกรรมดีเบต คือ ครูควรจัดเวลาให้นักเรียนทุกคนได้เตรียมตัวค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล เรื่องเล่า หลักฐาน และแง่มุมคิดต่าง ๆ ที่มากกว่าสถิติและตัวเลข เพื่อค้นหาทางออกที่เป็นมิตรกับผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ทุกฝ่าย และไม่ลืมที่จะนึกถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
          Derek Bok Center for Teaching and Learning ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เสนอแนวทางการตระเตรียมนักเรียนที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องพูดแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ หรืออาจมีอาการตื่นเวทีหากจะต้องดีเบตกันต่อหน้าเพื่อนในห้อง นั่นก็คือ ยังไม่ต้องรีบมุ่งเข้าสู่ประเด็นหลักที่คุณครูตั้งเป้าหมายไว้ แต่ขอให้เริ่มจากประเด็นง่าย ๆ ใกล้ตัวที่ไม่ซีเรียสนักในคาบเรียนก่อนหน้าสัก 1-2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับธรรมชาติของการดีเบตก่อน และหมั่นประเมินความคิดและความรู้สึกของนักเรียนกลุ่มนั้นว่าพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การดีเบตของจริงหรือยัง
          ฉะนั้น ปลายทางของการดีเบต จึงไม่จำเป็นจะต้องมีฝ่ายที่ชนะหรือแพ้ แต่เริ่มต้นจากมีประเด็นสนทนาที่ดี ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่คิดโดยไม่ถูกรบกวนหรือครอบงำ ทำให้นักเรียนได้มองเห็นโลกตามความเป็นจริง เข้าใจในประเด็นนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง กลายเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่ใส่ใจสังคม และเข้าใจความเป็นไปของโลกได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง
Baines, A., Medina, D., & Healy, C. (2023, Jan 26). Using debate as an educational tool. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/using-debate-educational-tool/

Education World. (n.d.). Debates in the classroom. https://www.educationworld.com/a_curr/strategy/strategy012.shtml

el Majidi, A., de Graaff, R., & Janssen, D. (2021). Debate as a pedagogical tool for developing speaking skills in second language education. Language Teaching Research. https://doi.org/10.1177/13621688211050619

Miller, A. (2023, Apr 13). From debate to deliberation. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/debate-deliberation-classroom

The Derek Bok Center for Teaching and Learning. (n.d.). Classroom debate. https://bokcenter.harvard.edu/classroom-debate


TAG: #การดีเบต #การโต้วาที #Debate #ทักษะการสื่อสาร #เทคนิคการจัดการเรียนรู้ #ทักษะการคิด #การใช้สื่อประกอบการเรียนรู้