Knowledge

สอนนักเรียนเล่าเรื่องอย่างไรให้สร้างสรรค์ Storytelling Skills

สอนนักเรียนเล่าเรื่องอย่างไรให้สร้างสรรค์ Storytelling Skills

 2 years ago 7098

เอกปวีร์ สีฟ้า เรียบเรียง

          สิ่งหนึ่งที่ทำให้โลกพัฒนามาถึงทุกวันนี้เกิดจากการส่งต่อความรู้ในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญคือการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะอ้างอิงจากจินตนาการ หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่นวนิยายโด่งดัง ไปจนถึงหลักการความรู้ที่ใช้เรียนมาจนถึงทุกวันนี้ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ก็ล้วนเริ่มมาจากการเล่าต่อกันมาทั้งนั้น การเล่าเรื่องสำคัญจนต้องมีวันเฉลิมฉลอง

          วันเล่าเรื่องโลกเริ่มต้นจากวันชาติสำหรับการเล่าเรื่องในประเทศสวีเดนประมาณ ค.ศ.1991 วันนั้นเรียกว่า “Alla berättares dag” ต่อมาใน ค.ศ.1997 นักเล่าเรื่องในออสเตรเลียได้จัดงานเฉลิมฉลองการเล่าเรื่องเป็นเวลานาน 5 สัปดาห์ จนวันนี้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะวันสากลของนักเล่าเรื่องปากเปล่า และค่อย ๆ ขยายไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ในอเมริกากลางและยุโรป และใน ค.ศ.2003 ก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในนาม World Storytelling Day มาถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบัน วันเล่าเรื่องโลกจัดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้เฉลิมฉลองศิลปะการเล่าเรื่อง และส่งเสริมให้นักเล่าได้มีโอกาสเล่าเรื่องปากเปล่าต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก

การเล่าเรื่องมีประโยชน์อย่างไร ?
1. การเล่าเรื่องปากเปล่าจะช่วยเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมการคิดเป็นภาพ
2. หล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การเล่าเรื่องให้ใครฟังหรือฟังเรื่องราวของใครบางคน ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงของความเข้าใจระหว่างผู้คนและส่งเสริมการฟังอย่างกระตือรือร้น
3. การเล่าเรื่องช่วยให้เราเข้าใจโลกรอบตัวเรา เนื่องจากมนุษย์เราแสวงหาคำอธิบายจากธรรมชาติ แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ถือได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องชนิดหนึ่ง

ครูสามารถจัดกิจกรรมอะไรให้นักเรียนได้บ้าง ?
1. เล่นบทบาทสมมติ
          การเล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก หุ่นกระบอก หรือการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่กำลังเล่า จากการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันในการเล่าเรื่องให้เด็กฟัง จะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางภาษาได้ ครูอาจจะใช้การจัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนแต่งตัวเป็นตัวละครเพื่อเล่นบทบาทสมมติกับเพื่อนๆ จากนั้นครูค่อยให้ผลป้อนกลับเป็นการพูดชม ทำหน้าว้าว หรือการอุทานที่โอเวอร์นิดหน่อย เพื่อให้นักเรียนรับรู้ว่าครูกำลังตั้งใจดูอยู่ 
2. ชวนนักเรียนเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง
          นักเรียนไม่จำเป็นต้องบอกเล่าเรื่องราวที่เขาเคยได้ยินมา พวกเขาสามารถคิดและสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อพูดถึงการเล่าเรื่อง มันขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่า คุณครูลองให้นักเรียนนึกถึงจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และตอนจบของเรื่องเล่าหรือออกมาเล่านิทานที่เขาเคยฟังมา ตัวละครเรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างไร แล้วให้พวกเขาลองคิดว่าถ้าสามารถเปลี่ยนเนื้อเรื่องได้ อยากให้เรื่องออกมาเป็นแบบไหน นักเรียนจะได้ฝึกคิดโดยใช้จินตนาการ ก้าวข้ามขีดจำกัดทางความคิดต่าง ๆ
3. จับกลุ่มเล่าเรื่อง
          ครูสามารถจัดเป็นกิจกรรมฐาน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม และกำหนดหัวข้อในการเล่าเรื่องแต่ละฐาน อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่าเรื่องที่เคยได้ยินจากคนในครอบครัว ที่มาของชื่อนักเรียน สิ่งที่ชอบทำ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกเล่าเรื่อง และแบ่งปันเรื่องเล่าซึ่งกันและกัน
4. เชื่อมโยงงานศิลปะกับการเล่าเรื่อง
          ครูสามารถจัดกิจกรรมให้นักเรียนวาดภาพในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง แต่งนิทาน แต่งกลอน แต่งเพลง การทำงานประดิษฐ์ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ จากนั้นให้นักเรียนฝึกถ่ายทอดเรื่องราวโดยการบอกเล่าความรู้สึก ประสบการณ์จากการทำกิจกรรมดังกล่าว
5. ฝึกนักเรียนให้เล่าเรื่องแบบ digital storytelling
          ในศตวรรษที่ 21 ทักษะการใช้เทคโนโลยีถือเป็นทักษะที่จำเป็นมากที่ครูจะต้องเตรียมพร้อมให้กับนักเรียน ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างทักษะนี้ ครูสามารถจัดกิจกรรมที่รวมการเล่าเรื่องเข้ากับการใช้สื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ ให้นักเรียนได้ลองฝึกเล่าเรื่องโดยการอัดวิดีโอ ใส่ภาพประกอบ ฝึกบรรยาย และอัปโหลดขึ้นสู่อินเทอร์เน็ต จากนั้นให้นักเรียนทุกคนเป็นผู้ฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อวิดีโอของเพื่อนร่วมห้อง

          การเล่าเรื่องถือเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมสร้างจินตนาการ เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่าในสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาอยากเล่า ผ่านการเรียบเรียงเป็นถ้อยคำเพื่อสื่อสารออกมา หากครูหรือผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการเล่าเรื่องก็จะเป็นผลดีต่อตัวเด็กในอนาคต เช่นสามารถสื่อสารใจความสำคัญได้ตามที่ต้องการ โน้มน้าวใจผู้ฟังได้ ดังนั้น การที่ครูจะใช้เวลาในชั่วโมงเรียนหรือผู้ปกครองใช้ช่วงปิดภาคเรียนในการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกทักษะการอ่าน และพูดเล่าเรื่องก็เป็นทางเลือกสิ่งที่น่าสนใจ

รายการอ้างอิง
International today. (n.d.). World Storytelling Day – March 20, 2022. https://nationaltoday.com/world-storytelling-day/

Minsky, A. (2021, January 2). Storytelling for kids: 7 tips for teaching and practicing narrative formulation. South Shore Therapies. https://southshoretherapies.com/b/7-tips-for-teaching-and-practicing-narrative-formulation-with-your-kids

Rudolf Roos. (2022, February 20). World Storytelling Day 2022: March 20 [theme and 7 activities]. International Storyteller. https://internationalstoryteller.com/world-storytelling-day/

ภูริตา สายะวารานนท์ และ ปณิตา วรรณพิรุณ. (2561). การเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับเจนเนอเรชั่นซีโดยการเล่าเรื่องด้วยสื่อดิจิทัล. วารสารเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.พระนคร, 3(1), 74. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/jmctrmutp/article/view/251847


TAG: #ทักษะการสื่อสาร #ทักษะการอ่าน #ทักษะการพูด #ทักษะการเล่าเรื่อง #ทักษะการคิด #ทักษะศตวรรษที่21 #Storytelling #Digital Storytelling #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #วันเล่าเรื่องโลก #เล่านิทาน #World Storytelling Day #Storytelling Skills #กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน