Knowledge
แก้ไขยังไงให้ได้เรียนรู้: เปลี่ยน “การซ่อม” เป็น “การสร้าง”
7 months ago 1992จิราพร เณรธรณี
การแก้ไขงาน หรือทำข้อสอบซ้ำเพื่อดันผลการเรียน เป็นสิ่งที่ชวนให้ทั้งครูและนักเรียนต่างรู้สึกหมดกำลังใจ ซึ่งผลที่ได้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากนักเรียนยังไม่ตระหนักถึงข้อผิดพลาดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร หรือขาดการไตร่ตรองข้อผิดพลาด และยังมีนักเรียนและครูอีกหลายคนที่มองการแก้ไขงาน หรือข้อสอบเป็นเรื่องเสียเวลา อย่างไรก็ตามข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้เพราะเรามีชีวิต การกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดจึงเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีคำว่า “เสียเวลา”
ปรับที่นักเรียน ด้วยวิธีคิดแบบ Growth Mindset
การแก้ไขงานหรือทำข้อสอบใหม่ ซึ่งได้รับผลย้อนกลับ (feedback) มาจากครู นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาผลงาน หรือข้อสอบที่นักเรียนได้ทำด้วย เพื่อให้เกิดการสะท้อนคิดว่า ทำไมถึงต้องกลับมาแก้ กระบวนการของการทำผลงานหรือข้อสอบในข้อหรือขั้นตอนไหนที่ยังมีข้อบกพร่อง และแก้ไขได้อย่างไร การสะท้อนคิดด้วยคำถามเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงข้อผิดพลาดเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การแก้ไขงานที่ผ่านมา ยังถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่ช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการไม่เครียด หรือกังวลกับข้อผิดพลาดมากเกินไป เพราะสิ่งนี้นับเป็นการเสียเวลาที่แท้จริง เนื่องจากเมื่องานหรือข้อสอบไม่ตรงตามที่นักเรียนคาดหวัง ก็จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นได้ แต่ก็สามารถพลิกมาใช้วิธีคิดที่จะไม่ยอมแพ้และนำข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนให้พัฒนาตนเองต่อไป หรือเรียกว่า Growth Mindset จะช่วยให้นักเรียนใช้เวลาในการพัฒนาตนเองจากข้อผิดพลาดได้มากกว่าการหมกมุ่นในความรู้สึกด้านลบ ดังนั้น ทุกครั้งที่มีข้อผิดพลาด คือการเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดความล้มเหลวจากการทำผิดด้วยข้อผิดพลาดเดิม
การเรียนรู้ผ่าน “ฐานกิจกรรม”
ครูสามารถทำฐานกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาความสามารถของตนเองและสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ที่นักเรียนยังบกพร่อง หลังจากที่นักเรียนได้ตระหนักถึงข้อผิดพลาดของตนเองและสะท้อนคิดถึงสาเหตุแล้ว โดยกิจกรรมย่อยในแต่ละฐานจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือครูอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อช่วยลดความกังวลและความเครียดให้กับนักเรียน การแบ่งกลุ่มนักเรียนก็จะช่วยให้นักเรียนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกด้วย และอย่างน้อย 1 ฐาน นักเรียนควรได้พูดคุยกับครูเพื่อสอบถามข้อสงสัยที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างการเข้าทำกิจกรรมแต่ละฐานและนอกเหนือจากการทำกิจกรรม เพื่อครูจะได้แนะแนวทางในการเพิ่มประสบการณ์ด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย
การนำฐานกิจกรรมมาช่วยเสริมประสบการณ์การเรียนรู้สามารถประยุกต์ตามมาตรฐาน การจัดการเรียนรู้ของเนื้อหาแต่ละวิชา ยกตัวอย่างในวิชาภาษาไทย เรื่อง การสร้างคำในภาษาไทย ฐานแรกครูและนักเรียนสามารถวิเคราะห์และรวบรวมสาเหตุของข้อผิดพลาดแล้วรวบรวมเพื่อครูมาสรุปเป็นเนื้อหาสำคัญให้นักเรียนได้เสริมประสบการณ์ที่เป็นเนื้อหาความรู้ในฐานแรก ในฐานต่อมาครูเสริมประสบการณ์ที่เป็นทักษะให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ โดยครูสามารถนำเทคโนโลยีที่เป็นแอปพลิเคชันต่าง ๆ มาบูรณาการกับกิจกรรมในฐานนี้ เช่น แบบฝึกหัดที่เป็นเกมออนไลน์ กิจกรรมเกมแบบกลุ่มสัมพันธ์ ฯลฯ และในฐานสุดท้ายครูและนักเรียนจะได้มาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับวิเคราะห์ปัญหาที่พบ แก้ไขปัญหาร่วมกัน และสิ่งสำคัญคือการเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันและเป็นกำลังใจให้นักเรียนอยากที่จะเรียนรู้อย่างยั่งยืนและมีความสุขในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด
การเรียนรู้จาก “ข้อผิดพลาด”
เมื่อนักเรียนมีประสบการณ์เรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น นักเรียนก็จะมีความพร้อมที่จะแก้ไขอย่างมีจุดหมาย โดยการแก้ไข ครูควรออกแบบผลงานหรือข้อสอบที่เป็นข้อสอบคู่ขนานและให้นักเรียนแก้ไขเฉพาะข้อผิดพลาดของตนเอง โดยนำความรู้และทักษะที่ได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละฐาน ซึ่งการลดจำนวนชิ้นงานหรือข้อสอบให้สอดคล้องกับข้อผิดพลาดของนักเรียนแต่ละคน จะไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานหรือตัวชี้วัดนักเรียน เพราะต่างคนต่างมีข้อผิดพลาดที่แตกต่างกัน
เปลี่ยนที่ครูด้วย การประเมินที่ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์เรียนรู้
การประเมินว่านักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้นหรือไม่อย่างไร หากเป็นการประเมินในรอบ การแก้ไข ก็ควรให้โอกาสได้ปรับคะแนนได้สูงสุด อย่างไรก็ตามก็อาจจะมีการค้านเรื่องความยุติธรรมกับนักเรียนที่สอบในรอบแรกที่เตรียมพร้อมมาก่อน ประเด็นนี้ไม่ปฏิเสธ เพียงมองว่า หากมีเพดานคะแนนในรอบการแก้ไข ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนที่ได้รับโอกาสในการแก้ไข จะมีกรอบการได้คะแนนที่ไม่สูงเท่ากับนักเรียนที่ไม่มีข้อผิดพลาด ซึ่งหากเทียบที่ประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยแล้วนักเรียนที่มีข้อผิดพลาดจะได้เรียนรู้มากกว่านักเรียนที่ไม่มีข้อผิดพลาดด้วยซ้ำ ดังนั้น การแก้ไขงานในระยะนี้จึงควรเปลี่ยนจากคำว่า “ซ่อม” เป็น “สร้าง” ประสบการณ์เรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้คำที่สะท้อนความเป็นจริงแล้ว ยังชวนให้นักเรียน (รวมถึงผู้ปกครอง) ก้าวข้ามความกังวลและหันมามองบวกกับการแก้ไขงานเช่นนี้มากขึ้น
การแก้ไขข้อผิดพลาดผ่านการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ที่มาจากการตระหนักรู้ของจิตใจว่าความผิดพลาดเป็นของตัวเรา การเรียนรู้ก็จะเริ่มต้นขึ้น ในฐานะนิสิตครู จึงมองว่าคนที่จะสามารถระบุข้อผิดพลาดหรือจุดบกพร่องของนักเรียนได้มากที่สุดไม่ใช่ครู แต่เป็นตัวนักเรียนเอง การประเมินนักเรียนให้มีประสิทธิภาพที่สุด คือการประเมินและการให้ผลย้อนกลับที่ไม่มีเพียงครูฝ่ายเดียว แต่นักเรียนควรมีส่วนร่วมในผลการเรียนรู้ของตนเองและการจัดการกับข้อผิดพลาดของตนเอง โดยมีครูเป็นผู้แนะนำ
รายการอ้างอิง
McDade M. (2022, December 19). Using Test Corrections as a Learning Tool. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/test-corrections-high-school-math/
The Mind Tools Content Team. (n.d.). How to Learn from Your Mistakes. MindTools. https://www.mindtools.com/a27yhpa/how-to-learn-from-your-mistakes
Fon Pornpakan. (2562, 7 สิงหาคม). ทำยังไงให้การสอบซ่อม ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ. Inskru. https://inskru.com/idea/-Lle5fEq6_WwgsToXmYv