Knowledge

วิธีสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สงบสำหรับเด็กปฐมวัย

วิธีสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สงบสำหรับเด็กปฐมวัย

 4 years ago 5013

แปลและเรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ห้องเรียนปฐมวัยคือห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความต้องการที่หลากหลายของเด็กเล็ก การเป็นครูปฐมวัยจึงไม่ใช่แค่การทำหน้าที่ครูเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องรับบทบาทพ่อแม่ ดูแลเด็กๆ ทั้งเรื่องกิจวัตรประจำวันและจัดกิจกรรมเสริมพัฒนาการต่างๆ ห้องเรียนของเด็กวัยนี้จึงไม่ต่างอะไรกับสนามเด็กเล่นที่เต็มไปด้วยเด็กน้อยวิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลา แม้เด็กปฐมวัยจะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และอยู่ไม่ค่อยนิ่ง แต่เด็กวัยนี้ก็ต้องการสภาพแวดล้อมที่สงบไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เพราะความสงบจะช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น แล้วในฐานะครูปฐมวัยเราจะมีวิธีสร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ แต่ยังคงเอื้อต่อการเรียนรู้ของพวกเขาได้อย่างไร

เตรียมพื้นที่ห้องเรียน
          สำหรับเด็กเล็กแล้ว พวกเขาไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ความสว่างมากเท่าผู้ใหญ่ ไฟฟลูออเรสเซนต์ที่เราใช้กันอยู่มักมีความสว่างเกินไป ครูควรใช้แสงธรรมชาติควบคู่กับแสงไฟตามความจำเป็นของกิจกรรมนั้นๆ เช่น หากมีการอ่านเขียนก็อาจใช้โคมไฟที่ส่องแสงเฉพาะจุดโดยตรง ภายในห้องเรียนควรใช้สีที่สร้างความรู้สึกที่เป็นบวกและผ่อนคลาย จัดและตกแต่งห้องให้อยู่ในระดับสายตาเด็ก ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเพื่อโชว์งานศิลปะของเด็กบ้าง และยังเหลือพื้นที่ว่างไว้เพื่อให้เด็กได้พักสายตาด้วย หากเป็นไปได้ ครูลองจัดหาต้นไม้มาวางในห้องเรียน นอกจากจะสร้างบรรยากาศให้ดูดีขึ้นแล้ว ยังช่วยรักษาสมดุลความชื้นอีกด้วย การมีต้นไม้จริงอยู่ในห้องเรียนยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

มองตา สื่อสารให้เข้าถึงใจ
          การเผชิญหน้ากับเด็กๆ ในระดับสายตาของพวกเขาด้วยการนั่งลงหรือคุกเข่า เพื่อพูดคุยสื่อสารด้วยจะทำให้เกิดการสบตากัน ช่วยให้ครูรู้ถึงระดับพลังงานและเรียนรู้ภาษากายของพวกเขาได้ และยังได้มองเห็นโลกผ่านมุมมองของเด็กๆ การสื่อสารจึงเป็นไปด้วยความสงบและปลอดภัย

เปลี่ยนช่วงกิจกรรมแบบไม่โกลาหล
          หลายครั้งครูพบว่าห้องเรียนมักเกิดความโกลาหลในช่วงที่เปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง เพราะเด็กมักจะตื่นเต้นและส่งเสียงดัง เรามีเทคนิคที่ช่วยให้การปลี่ยนกิจกรรมวุ่นวายน้อยลง และประหยัดเวลาได้มากขึ้น ก่อนอื่นครูต้องเช็กว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เด็กทุกคนต้องทำในเวลาเดียวกัน และถามตัวเอง ดังต่อไปนี้
1. ช่วงเวลาของการเปลี่ยนกิจกรรมทั้งหมดนี้จำเป็นหรือไม่ เช่น ครูสามารถปล่อยให้เด็กๆ เล่นในช่วงเวลาเล่นอิสระได้นานขึ้น แล้วรวมเอากิจกรรมกลุ่มย่อยไว้เป็นตัวเลือกในเวลาเล่นอิสระก็ได้ วิธีนี้จะช่วยลดเวลาที่ต้องเปลี่ยนกิจกรรมช่วงเล่นอิสระกับกิจกรรมกลุ่มย่อยลงได้
2. จำเป็นหรือไม่ที่เด็กทุกคนต้องทำอะไรเหมือนกันในช่วงเปลี่ยนกิจกรรม เช่น ช่วงเปลี่ยนจากกิจกรรมกลุ่มใหญ่ไปสู่เวลาของว่าง แทนที่จะให้เด็กทุกคนไปล้างมือพร้อมกัน ก็ให้เด็ก 2-3 คนไปล้างมือก่อน แล้วครูก็ดึงให้เด็กที่เหลือมีส่วนร่วมกับเพลงหรือการสนทนาแทน เมื่อเด็กล้างมือเสร็จก็ให้มาแตะไหล่เพื่อนเป็นสัญญาณว่าถึงคิวล้างมือแล้ว
          สำหรับช่วงเวลาของว่าง เราก็มีวิธีลดจำนวนการเปลี่ยนกิจกรรมของเด็กทั้งห้องด้วยการเตรียมขนมทิ้งไว้ให้ โดยครูเตรียมโต๊ะของว่างไว้ให้เด็กหยิบได้เอง ครูอาจจะนั่งที่โต๊ะเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือก็ได้ ครูบางคนก็ทำเช็กลิสต์ไว้ให้เด็กๆ ติ๊กได้ว่าทานของว่างไปแล้วหรือยัง วิธีนี้จะช่วยให้ครูติดตามได้ว่ามีเด็กคนไหนยังไม่ได้ทานของว่างก่อนที่ครูจะเก็บของว่างไป การเตรียมของว่างไว้ให้ไม่เพียงลดเวลาการเปลี่ยนกิจกรรมลงเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงสัญญาณของความหิวหรือกระหาย แล้วจัดการกับความต้องการเหล่านั้นด้วยตัวเอง

          แม้ว่าเด็กเหล่านี้จะอยู่ในวัยปฐมวัย แต่เราก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมเชิงบวกกับเด็กๆ ได้หลายวิธี เด็กชอบที่จะรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น ก่อนที่เวลาเล่นอิสระจะหมดลง หากเป็นไปได้ให้ครูบอกเด็กล่วงหน้าก่อน 5 นาที ว่าพวกเขาเหลือเวลาเล่นเท่าไรก่อนที่จะต้องเก็บข้าวของ อาจใช้นาฬิกาจับเวลาช่วยให้เด็กรู้ว่าการเปลี่ยนกิจกรรมกำลังจะเกิดขึ้น หรือใช้การร้องเพลงประกอบท่าทางในช่วงเปลี่ยนกิจกรรม จะช่วยให้เด็กมีสมาธิอยู่กับสิ่งที่พวกเขากำลังทำ และช่วยลดเวลาที่เด็กต้องรอเมื่อพวกเขาไม่มีอะไรจะทำ สุดท้ายครูต้องมีเครื่องมือช่วยจำพวกหนังสือ ตัวต่อ หรือหุ่นมือไว้สำหรับเด็กที่กำลังรอที่จะเริ่มต้นกิจกรรมถัดไป

ห้องเรียนคือที่ฝึกกิจวัตรที่ดี
          กิจวัตรสำหรับเด็กปฐมวัยควรสัมพันธ์กับระดับพัฒนาการของเด็ก ครูควรส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการปล่อยให้พวกเขาได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง แบบที่ไม่ยากเกินไปที่จะเรียนรู้และจดจำ เด็กบางคนสามารถทำกิจวัตรได้เอง ขณะที่เด็กบางคนก็ยังเจอปัญหาอยู่บ้าง สิ่งที่ครูสามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้คือ คอยสังเกตว่าอะไรเป็นสาเหตุให้การทำกิจวัตรนั้นๆ ต้องสะดุดลง
- เด็กๆ ทำกิจวัตรแต่ละอย่างได้ครบถ้วนหรือไม่
- อะไรที่ครูรู้สึกว่าครูต้องทำซ้ำอยู่บ่อยๆ
          ถ้าครูสังเกตว่าเด็กมักจะหยุดมองของเล่นหรือไปทักทายเพื่อนๆ ก่อนที่จะเก็บกระเป๋าเข้าตู้ เป็นไปได้ว่าการจัดห้องของครูกำลังรบกวนกิจวัตรประจำวันของเด็กในตอนเช้า ตู้อาจจะอยู่ไกลไปจากประตู หรือมีสิ่งดึงความสนใจจากเด็กก่อนที่จะไปถึงตู้ สิ่งที่ครูควรปรับคือ จัดให้มีเส้นทางที่ชัดเจนจากประตูไปสู่การเช็กชื่อ แล้วไปยังตู้และอ่างล้างมือ ใช้หลักการแบบเดียวกันกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดการเปลี่ยนกิจกรรมและสิ่งรบกวนอื่นๆ
- พื้นที่สำหรับของว่างอยู่ใกล้อ่างล้างมือและอุปกรณ์อื่นที่ต้องใช้หรือเปล่า
- มีเสื้อผ้าสำรองอยู่ใกล้ห้องน้ำไหม
- มีถังขยะอยู่รอบๆ ห้องหรือเปล่า

          กิจวัตรประจำวันที่ดีจะมีจุดเริ่มต้น และสิ้นสุดที่ชัดเจน เช่น เมื่อถึงเวลาอาหาร เด็กๆ จะรู้ว่าต้องล้างมือ นั่งที่โต๊ะ ร้องเพลงกับเพื่อนๆ ทานอาหาร ล้างจาน และแปรงฟัน ผู้ใหญ่ต้องสอนกิจวัตรเหล่านี้กับเด็กโดยตรง ครูอาจใช้ภาพต่างๆ ช่วยให้เด็กทำกิจวัตรได้ง่ายขึ้น เช่น แปะสติกเกอร์รูปเท้าไว้บนพื้น เพื่อให้เด็กรู้ว่าจะยืนตรงไหนเวลาเข้าแถวก่อนเตรียมออกนอกห้อง หรือมีภาพ ข้อความไว้บอกขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้องแปะไว้ใกล้อ่างล้างมือ

          แม้ว่าการเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็กจะเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ ที่ครูต้องใส่ใจ งานของครูปฐมวัยจึงเป็นงานที่หนัก แต่สิ่งเหล่านี้เองคือการสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทักษะชีวิตในแต่ละด้าน ที่ล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

อ้างอิง
Heiskell, E. (2020, June 20). How to Create a Calm Learning Environment for Preschoolers. Retrieved July 14, 2020, from https://www.edutopia.org/article/how-create-calm-learning-environment-preschoolers

The Environment: Schedules and Routines: VLS. (n.d.). Retrieved July 15, 2020, from https://www.virtuallabschool.org/preschool/learning-environments/lesson-5


TAG: #ปฐมวัย #การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้