Knowledge
ครูปฐมวัยกับบทบาทนักออกแบบ จัดการเรียนการรู้ Play+Learn at home
4 years ago 31844เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคือจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาทั่วโลก ครูและนักเรียนต้องปรับรูปแบบการเรียนรู้มาเป็นออนไลน์เท่าที่จะทำได้ หนึ่งในคำถามยอดฮิตท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ นอกเหนือจากเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือและอินเทอร์เน็ตแล้ว การจัดการเรียนการสอนให้เด็กปฐมวัยจะมีทิศทางอย่างไร ในเมื่อเด็กยังเล็กมาก การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การพัฒนาด้านอารมณ์ และสังคมสำหรับเด็กวัยนี้จะทำได้อย่างไร เมื่อไม่ได้เจอครูในห้องเรียนจริง
เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของครูปฐมวัยที่ต้องเพิ่มบทบาทเป็น “นักออกแบบหลักสูตรและกิจกรรม” ที่มีความยืดหยุ่น ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่สำคัญคือ ครูและพ่อแม่ต้องเป็นทีมเดียวกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ต่างอะไรกับการจูงมือประคองให้เด็กเดิน พวกเขาจะก้าวเดินได้อย่างมั่นใจ ไม่ล้มลงกลางทาง เมื่อมีคนคอยประคองทั้งซ้ายและขวา
การใช้เทคโนโลยีกับเด็กปฐมวัยอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเท่าการเรียนรู้ที่มีการลงมือปฏิบัติ และหลากหลาย แล้วในสถานการณ์แบบนี้ ครูจะจัดการเรียนการสอนให้เด็กปฐมวัย โดยร่วมมือกับพ่อแม่อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
1. เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก
เด็กปฐมวัยชอบเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือปฏิบัติ งานหลักของเด็กวัยนี้จึงเป็นการเล่น เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
2. ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ต้องพัฒนาควบคู่กันไป
การเล่นบทบาทสมมติเป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ดีมาก เด็กมักเล่นเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน เด็กไม่ได้เจอเพื่อนคนอื่นๆ ครูควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้โอกาสนี้เล่นบทบาทสมมติกับเด็ก โดยอาจจะเล่นเป็นลูกค้าให้ลูกๆ ที่สวมบทบาทเป็นเชฟตัวน้อย
3. ตั้งเป้าหมายสิ่งที่อยากให้เด็กเรียนรู้ และกำหนดระยะเวลา
ครูอาจตั้งเป้าหมายสำหรับเด็กเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งเด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเขายังต้องเสริมทักษะในด้านไหน กิจกรรมบางอย่างอาจต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น การส่งชุดของเล่นเสริมพัฒนาการไปให้แต่ละบ้าน
4. ครูต้องสื่อสาร ให้ความรู้กับผู้ปกครองเป็นระยะ
พูดคุยกับผู้ปกครองถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กๆ ที่บ้าน โดยปรับให้ยืดหยุ่นได้ตามตารางของผู้ปกครอง บางครอบครัวผู้ปกครองอาจต้องทำงานตอนเช้า แต่พอจะมีเวลาว่างตอนบ่าย ก็ใช้เวลาช่วงนี้จัดกิจกรรมให้เด็กๆ ตามที่ครูเตรียมไว้ให้
5. ติดตามประเมินพัฒนาการเด็ก โดยให้ผู้ปกครองช่วยจดบันทึก
เด็กปฐมวัยจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ปกครองคือคนที่อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุด ให้ครูแนะนำผู้ปกครองช่วยจดบันทึกพัฒนาการเหล่านั้นไว้ เพื่อนำมาใช้ปรับรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กต่อไป
6. ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
เด็กวัยนี้ไม่ควรอยู่หน้าจอนานเกินไป เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ยังไม่ควรให้อยู่หน้าจอ เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ไม่ควรอยู่หน้าจอนานเกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ครูใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารกับเด็ก สร้างปฏิสัมพันธ์ เช่น ฟังนิทาน ออกกำลังกาย ทำสิ่งประดิษฐ์ โดยมีผู้ปกครองคอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
จะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก 1 คน ไม่ได้เป็นเรื่องของของครูเพียงคนเดียว หรือจะต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียนอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง รวมไปถึงชุมชน ในการจัดการทรัพยากร สภาพแวดล้อม ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อสร้างภาวะที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของพวกเขา
อ้างอิง
รศ.ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู สาขาวิชาปฐมวัยศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย