Knowledge

การสอนแบบ PBL (Problem-based Learning) สร้างความตระหนักรู้การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

การสอนแบบ PBL (Problem-based Learning) สร้างความตระหนักรู้การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

 1 year ago 2119

จิราพร เณรธรณี เรียบเรียง

          การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL) เป็นการเรียนรู้จากปัญหาในสถานการณ์จริงผ่านการศึกษาและลงมือปฏิบัติเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขโดย NSM ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาบูรณาการเป็นหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          กิจกรรมที่ออกแบบมานั้น เป็นกิจกรรมการอภิปรายและทดลองเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง การปนเปื้อน และการจัดการกับทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นจริง

          การปรับหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เริ่มต้นด้วยการสำรวจ และกำหนดปัญหาหรือคำถามในเรื่องที่ต้องการศึกษาและแก้ไข โดยมีขอบเขตของปัญหาหรือคำถามที่อยู่ในรูปแบบของสถานการณ์จำลองที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของนักเรียน นักเรียนจึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ และตั้งสมมติฐานการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติเพื่อหาคำตอบและแนวทางแก้ไขปัญหา
          โดยสิ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้และทำกิจกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในสถานการณ์จริงของนักเรียน การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานมีแนวทางการดำเนินการโดยเริ่มจากการสำรวจและกำหนดปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนของนักเรียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบเสาะหาสาเหตุของปัญหา จากนั้นรวบรวมประเด็นหรือแนวทางที่ใช้แก้ไขปัญหา แล้วทบทวนวิธีการแก้ไขปัญหา สุดท้ายคือการบูรณาการและต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่

          NSM ได้พัฒนากิจกรรมในหลักสูตรที่แบ่งเป็น 3 ธีม ประกอบด้วย 7 กิจกรรม โดยมีเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากบริบทของประเทศจีนและไทย ในที่นี้จะยกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นในธีมที่ 2 เกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับน้ำใต้ดิน มี 3 กิจกรรม ดังนี้

          กิจกรรมที่ 1 การอภิปรายและทดลองเกี่ยวกับปัญหาน้ำใต้ดิน เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากปัญหาแผ่นดินทรุด โดยมีข้อสมมติฐานที่มาจากบริบทจริงในชุมชนจังหวัดจันทบุรีว่า ปัญหาการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ในปริมาณมากทำให้แผ่นดินทรุดจริงหรือไม่ จากนั้นให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประเด็นปัญหาดังกล่าวก่อน แล้วให้นักเรียนทดลองตามขั้นตอนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมอุปกรณ์ การออกแบบแบบจำลองและดำเนินการตามสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา จากนั้นบันทึกผลการทดลอง โดยจะทำควบคู่กับการทดลองเพราะนักเรียนต้องบันทึกให้เห็นความแตกต่างทั้งก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้การวัดเพื่อตรวจสอบว่าหลังจากน้ำสูบออกไปหมดแล้ว ชั้นดินจำลองนั้นมีความสูงเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร แล้วสรุปผลการทดลองเพื่อตอบและแก้ไขปัญหาที่ตั้งไว้
          ผลคือหากสูบน้ำไปในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น น้ำที่แทรกอยู่ในชั้นดินและหินจะหายไป ทำให้ชั้นดินและหินทรุดตัวลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก สุดท้ายคือการหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการเจาะน้ำบาดาลให้ลึกลงไปอีก อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาจากปลายเหตุ จะดีอย่างยิ่ง หากหาวิธีแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุได้


การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ว่าด้วยทรัพยากรน้ำในท้องถิ่น

          กิจกรรมที่ 2 การตรวจหาสารปนเปื้อนจากน้ำใต้ดิน เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากปัญหาการพบสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำจากอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเกิดคำถามว่าการปนเปื้อนสารเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และอย่างไร จะส่งผลเสียต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นอย่างไร การทดลองนี้ต่อยอดมาจากการทดลองในกิจกรรมที่ 1 สิ่งที่เพิ่มเติมในขั้นการทดลองคือ การเติมน้ำที่ปนเปื้อน โดยเติมสีแดงเพื่อจำลองการปนเปื้อนลงไปในแบบจำลองสถานการณ์ และการใช้กระดาษทดสอบสารปนเปื้อน (Test Kit) พบว่า แหล่งน้ำที่มีสารปนเปื้อนจะมีจุดสีแดงขึ้น ในขณะที่แหล่งน้ำที่ไม่มีสารปนเปื้อนไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีกระดาษทดสอบ
          ผลจากการทดลองเชื่อมโยงกับปัญหาในสถานการณ์จริง พบว่า แหล่งน้ำที่พบสารปนเปื้อนไม่ได้เกิดจากการปล่อยสารปนเปื้อนจากโรงงานโดยตรง แต่เกิดจากการขุดเจาะน้ำบาดาลมากเกินไป เกิดช่องโหว่ สารปนเปื้อนจากพื้นผิวดินจึงแทรกซึมไปได้ วิธีแก้ไข คือ การขุดเจาะน้ำบาดาลให้ลึกลงไปอีก ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุคือการลดปริมาณสารเคมีและการกำจัดสารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ว่าด้วยทรัพยากรน้ำในท้องถิ่น

          กิจกรรมที่ 3 การประดิษฐ์เครื่องสูบน้ำอย่างง่าย เป็นกิจกรรมที่นักเรียนจะได้สร้างเครื่องสูบน้ำจำลองจากการได้ใช้เครื่องสูบน้ำจำลองจากการทดลอง เพราะการได้ใช้จริงช่วยให้นักเรียนได้ศึกษาการทำงานของเครื่องสูบน้ำไปด้วยทำให้การออกแบบตรงจุดประสงค์ของการใช้มากขึ้น

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ว่าด้วยทรัพยากรน้ำในท้องถิ่น
          ทั้ง 3 กิจกรรมมีบริบทจากหลากหลายพื้นที่ การประยุกต์จึงต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่โดยรอบของโรงเรียนและชุมชนก่อน เพราะแต่ละพื้นที่อาจประสบปัญหาที่แตกต่างกัน และการนำหลักสูตรนี้ไปบูรณาการกับหลักสูตรของสถานศึกษาสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดค่าย การบูรณาการในรายวิชา การจัดขึ้นในรายวิชาศึกษาอิสระ (IS) การจัดในกิจกรรมชุมนุม/ชมรม การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานโดยปัญหามาจากเรื่องใกล้ตัวของนักเรียนจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ในชีวิตประจำวันและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ว่า “การเรียนรู้ช่วยแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง”

 

NSM Thailandสนับสนุนโดย NSM Thailand

EDUCA 2022 การปรับหลักสูตรและกิจกรรมที่ใช้แนวทางการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ว่าด้วยทรัพยากรน้ำในท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (Re-design Curriculum: Problem-based Learning and Local Water Resources) https://event.educathai.com/educa2022/online-workshop/2935


TAG: #PBL #การพัฒนาหลักสูตร #Problem-based Learning #ทรัพยากรน้ำ #ระบบนิเวศ #NSMThailand #องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #NSM #รายวิชาอิสระ #IS #Isคืออะไร