Knowledge

อยากให้เด็กได้ SEL (การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์) ทำไมต้องเริ่มที่ผู้ใหญ่

อยากให้เด็กได้ SEL (การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์) ทำไมต้องเริ่มที่ผู้ใหญ่

 3 years ago 5111

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์

         การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL: Social and Emotional Learning) เป็นประเด็นที่การศึกษายุคใหม่ให้ความสำคัญนอกเหนือจากการจัดการเรียนรู้ด้านอื่นๆ แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่าง OECD และ UNESCO เองก็ยังเตรียมส่งเสริม SELให้แก่นักเรียน ครู และชุมชน แต่อีกด้านหนึ่งเรากลับพบว่าถึงแม้โรงเรียนทั่วไปจะมีหลักสูตร SEL อยู่แล้วในระดับประถมศึกษา แต่ผลสำรวจครูอเมริกันระดับชั้น ม.6 จำนวน 15,000 คน และครูใหญ่ 3,500 คน เมื่อปี 2009 กลับพบว่าเมื่อนักเรียนขึ้นชั้นม.ปลายแล้วกลับไม่ค่อยมีบทเรียน SEL เหมือนในระดับประถมศึกษาสักเท่าไร แม้ว่าช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงเวลาเฉพาะที่สำคัญสำหรับนักเรียนในการพัฒนาความสามารถทางสังคมและอารมณ์ก็ตาม

SEL ต้องเริ่มที่ผู้ใหญ่ ไม่ใช่นักเรียน
         SEL ได้รับคำนิยามโดย Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning (CASEL) ว่าเป็นกระบวนการที่เด็กและผู้ใหญ่เข้าใจและจัดการกับอารมณ์ กำหนดและบรรลุเป้าหมายเชิงบวก มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก และตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ SEL จึงเป็นทักษะที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อทุกคน ช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
         เช่นเดียวกับการปลูกฝังทักษะอื่นๆ ให้นักเรียน จุดเริ่มต้นของการพัฒนา SEL อาจไม่ได้อยู่ที่หลักสูตรที่เข้มข้นในห้องเรียน แต่อยู่ที่ครู ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สนับสนุนที่จะต้องเข้าใจความสามารถทางด้านอารมณ์และสังคมของตัวเองเสียก่อน เพื่อที่จะสอนเรื่องเหล่านี้ให้กับนักเรียนได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยที่เผยแพร่โดย RAND ที่ทำขึ้นก่อนเกิดการระบาดของ COIVD-19 พบว่า ครู 80% อยากให้มีการพัฒนาเชิงวิชาชีพในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ SEL ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง และจะพัฒนา SEL ให้กับนักเรียนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา หรือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้อย่างไร
         ครูทั้งหมดยังเห็นตรงกันอีกด้วยว่า SEL จะพัฒนาความสามารถทางวิชาการของนักเรียนได้ ส่วนครูอีก 1 ใน 3 เห็นด้วยว่าผู้ใหญ่นอกเหนือจากพวกเขาเอง เช่น ที่ปรึกษาโรงเรียน นักจิตวิทยาและผู้ปกครอง ล้วนมีส่วนสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการ SEL ของนักเรียนด้วยกันทั้งสิ้น

ความท้าทายของการพัฒนา SEL ในห้องเรียน
         แม้ว่าการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนจะเป็นทักษะสำคัญไม่แพ้ทักษะอื่นๆ แต่ผลสำรวจของ Education Week Research Center กลับพบว่านักการศึกษา 81% บอกว่าโรงเรียนของพวกเขาให้ความสำคัญ “เล็กน้อย” หรือ “มาก” ต่อ SEL สำหรับเด็ก ป.1-3 แต่เมื่อนักเรียนเรียนระดับชั้นที่สูงขึ้นอย่าง ม.3-6 โรงเรียนกลับให้ความสำคัญกับ SEL เพียง 66% เท่านั้น ครูใหญ่บางคนก็เคยเข้าใจหลักการของ SEL ผิด รวมถึงเคยต่อต้าน SEL กับครูด้วย บ้างก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือใช้เฉพาะเด็กเล็กเท่านั้น

เทคนิคช่วยครูพัฒนา SEL ของตนเอง
         ในโรงเรียนนั้นครูใหญ่มีวิธีช่วยให้ครูพัฒนาความสามารถทาง SEL ของตนเอง และส่งเสริมสวัสดิภาพทางอารมณ์ได้หลากหลาย เช่น หาเวลาพิเศษสำหรับการสอน SEL จัด SEL บุ๊คคลับ ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้ใหญ่ในโรงเรียน และให้การสนับสนุนในสิ่งที่ครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนต้องการ การให้โอกาสครูได้พูดคุยมากยิ่งขึ้นก่อนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ หรือเริ่มต้นการประชุมด้วยการต้อนรับที่อบอุ่นและปิดการประชุมด้วยทัศนคติที่เป็นบวก ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ครูใหญ่ดึงมาใช้ได้
         นักเรียนของเราจะเติบโตมามีทักษะอารมณ์และสังคมดีเพียงใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งคือผลผลิตจากผู้ใหญ่ทุกคนที่มีส่วนในการถ่ายทอดและฝึกฝนทักษะนี้ให้กับพวกเขาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่รั้วโรงเรียน ที่สำคัญเราไม่อาจหยุดการพัฒนาทักษะนี้ให้กับนักเรียนทุกช่วงวัยได้เลย แม้พวกเขาจะเข้าสู่วัยรุ่นแล้วก็ตาม เพราะ SEL คือการเรียนรู้ที่สร้างทักษะติดตัวไปตลอดชีวิต และให้ประโยชน์กับกับทุกคนอย่างไม่มีขีดจำกัด

อ้างอิง
Gonser, S. (2020, October 29). High School Is Not the Time to Let Up on SEL. Retrieved December 14, 2020, from https://www.edutopia.org/article/high-school-not-time-let-sel

Prothero, A. (2020, October 23). The Secret to Improving Students’ Social-Emotional Skills? Start With the Adults. Retrieved December 14, 2020, from https://www.edweek.org/leadership/the-secret-to-improving-students-social-emotional-skills-start-with-the-adults/2020/10

Castro, C. (2020). Social and Emotional Learning for Teachers: Understand, Plan, Implement. Retrieved December 14, 2020, from https://www.teacheracademy.eu/course/social-and-emotional-learning


TAG: #Social Learning #Emotional Learning #SEL #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #Social Emotional Learning #SEL คืออะไร