Knowledge

ทักษะทางอารมณ์ที่ครูยุคใหม่ต้องสอน เมื่อเป้าหมายไม่ใช่แค่ความสุข แต่คือการลุกให้เป็นบนเส้นทางชีวิต

ทักษะทางอารมณ์ที่ครูยุคใหม่ต้องสอน เมื่อเป้าหมายไม่ใช่แค่ความสุข แต่คือการลุกให้เป็นบนเส้นทางชีวิต

 2 years ago 3819

เรียบเรียงโดย จิราเจต วิเศษดอนหวาย

          เมื่อตระหนักถึงสภาพสังคมปัจจุบันที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นกับครูหลายคนคือ เราจะสร้างภูมิคุ้มกันต่ออุปสรรคในชีวิตของลูกศิษย์ที่มีทั้งความท้าทายและซับซ้อนมากขึ้นได้อย่างไร แล้วจะทำอย่างไรให้ลูกศิษย์สามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ ทักษะที่จะมาช่วยให้ครูคลายความกังวลและเป็นความหวังในการเอาชนะปัญหา นั่นคือการบ่มเพาะทักษะที่เรียกว่า ความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญหน้า หรือ Resilience

          ความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญหน้า (Resilience) เป็นทักษะทางสังคมที่จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่พร้อมฝ่าฟันกับความผิดหวัง ตั้งรับและพลิกแพลงสถานการณ์วิกฤต ตลอดจนพร้อมสู้กับทุกปัญหา คุณสมบัติของทักษะดังกล่าวหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ น่าจะคล้ายกับต้นไผ่ลู่ลมที่ใช้ความเหนียวของเนื้อไม้พยุงลำต้นไม่ให้หักโค่นไปตามแรงลม หรือตุ๊กตาล้มลุกที่ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดัน ซึ่งครูและผู้ปกครองสามารถสร้างทักษะนี้ให้เด็กได้ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร หมั่นใช้จิตวิทยาเชิงบวก เรียนรู้การจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม และส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์

          ตัวอย่างการปลูกฝังทักษะความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญหน้าในสหรัฐอเมริกา โรงเรียนประถมซิลเวอร์สปริง รัฐแมรีแลนด์ ได้นำหลักสูตร Resilience Builder Program มาใช้กับนักเรียนช่วงอายุ 11 - 12 ปีโดยเฉพาะ แมรี อัลวอร์ด (Mary Alvord) นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้งอธิบายว่า “เด็กจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตเป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุม ซึ่งพวกเขาสามารถดึงพลังในตัวเองออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” ในชั้นเรียนจะมีการสอนทักษะการสื่อสาร การจัดการอารมณ์และความเครียด ตลอดจนการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์ผ่านการฝึกโยคะ เล่นปริศนาทายคำ ผลัดกันเล่านิทานให้เพื่อนฟัง

          ทักษะความยืดหยุ่นเมื่อต้องเผชิญหน้า ถือเป็นหนึ่งในทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ครูยุคใหม่ต้องสอนให้แก่เด็กนักเรียน เพราะบนเส้นทางชีวิตในโลกแห่งอนาคต เป้าหมายแค่การแสวงหาความสุขอาจไม่เพียงพอ แต่เรายังต้องฝึกให้เด็กสามารถล้มแล้วลุกให้เป็นด้วย สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือความสม่ำเสมอในการส่งเสริมทักษะดังกล่าว รวมถึงกำลังใจจากครูและผู้ปกครองที่เปรียบดั่งลมใต้ปีกที่คอยสนับสนุนให้เด็กนักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และพร้อมออกโบยบินอย่างมั่นใจ

แหล่งอ้างอิง
บุญชนก ธรรมวงศา. (2563 เมษายน 3). ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์เลวร้าย ‘ความยืดหยุ่น’ สิ่งที่ต้องมีในโมงยามนี้. เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน, 2564 จาก https://thepotential.org/knowledge/resilience-skill/

Andy steiner. (2017 september 17). Ann Masten: Children’s natural resilience is nurtured through ‘ordinary magic’. Retrieved june 16,2021 from https://www.minnpost.com/mental-health-addiction/2014/09/ann-masten-children-s-natural-resilience-nurtured-through-ordinary-m/

Karen Newbigging. (2018 august 18). Teaching children to be resilient could be key to their future mental health. Retrieved june 16,2021 from https://www.weforum.org/agenda/2018/08/key-to-lifelong-good-mental-health-learn-resilience-in-childhood


TAG: #ความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญหน้า #Resilience #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ #Social Emotional Learning #Social Learning #Emotional Learning #SEL