Knowledge

เมื่อซึมเศร้ากลายเป็นโรคแห่งยุคสมัย ครูควรรับมืออย่างไร

เมื่อซึมเศร้ากลายเป็นโรคแห่งยุคสมัย ครูควรรับมืออย่างไร

 2 years ago 4188

จิราพร เณรธรณี

         ความเจ็บป่วยไม่ได้เกิดขึ้นกับร่างกายเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับจิตใจของคนเราอีกด้วย ข่าวการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยเรียนมีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง “โรคแห่งยุคสมัย” นี้ ที่เกิดได้จากหลายปัจจัย เราอาจกล่าวได้ว่าโรงเรียนเป็นอีกสภาพแวดล้อมหนึ่งที่ผู้เรียนต้องใช้ชีวิตอยู่เป็นส่วนใหญ่ ๆ ในช่วงวัยเรียน ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดบรรยากาศที่ดีและการส่งเสริมผู้เรียนได้ หากรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน

วินิจฉัยโรคแห่งยุคสมัย มีอะไรเป็นเหตุ?
         สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่เกิดในโรงเรียนมักมาจากสภาพแวดล้อมแบบตัวบุคคล กล่าวคือ การกลั่นแกล้ง (bullying) จากเพื่อน รุ่นพี่ หรือครู ยกตัวอย่าง การใช้คำพูดของครูที่ส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้เรียน โดยครูอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะคำพูดที่ขาดการไตร่ตรองนั้นมักส่งผลต่อจิตใจของผู้รับฟัง ประกอบกับผู้เรียนแต่ละคนมีความอ่อนไหวต่ออารมณ์ที่ต่างกัน ครูจึงควรระมัดระวังในการใช้คำพูด นอกจากเรื่องคำพูด ยังมีการกระทำทางกายที่เป็นการกลั่นแกล้ง สภาพแวดล้อมที่กดดันจากการแข่งขัน สภาพแวดล้อมที่มาจากตัวบุคคลเองคือการคาดหวังกับผลการเรียนมากเกินไป เนื่องจากได้รับการบ่มเพาะมาจากค่านิยมเรื่องเกรด และอื่น ๆ

จิตวิทยาเชิงบวก : หลักการที่ครูควรนำไปใช้
         ด้วยสาเหตุดังกล่าว ครูจึงควรรับมือด้วยการสร้างวิธีป้องกัน และแก้ไขด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ที่สามารถสร้างเสริมผู้เรียน มี 5 ข้อ ดังนี้
อารมณ์ในทางบวก (positive emotion) ครูสามารถสร้างได้ด้วยการมีจิตวิทยาในการสื่อสาร และมีวิจารณญาณในการคิดก่อนพูด เพราะคำพูดของครูเปรียบเสมือนดาบสองคมสามารถที่จะ สร้าง จิตใจให้ผู้เรียนอยากเรียน มุ่งมั่นตั้งใจ และเห็นคุณค่าในตนเอง ฯลฯ และ สาป ให้ผู้เรียนรู้สึกด้อยค่า และคิดลบกับตนเองว่าไม่เก่งและไม่มีความสามารถ ส่งผลให้ไม่อยากพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และความคิดลบนั้นจะกดทับไปเรื่อย ๆ จากคำพูดของครู รวมทั้งเพื่อน ๆ ด้วย
ความผูกพันระหว่างกัน (engagement) ครูสามารถสร้างผ่านกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยหากิจกรรมการรวมกลุ่มที่เน้นการลงมือปฏิบัติในวิชาที่สอนอย่างหลากหลาย แล้วครูควรเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนั้นด้วยเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทั้งกับครูและผู้เรียน นอกจากนี้ การเปิดโอกาสและมอบอำนาจให้ผู้เรียนสามารถสอบถาม แสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินในในกระบวนการเรียนรู้ของพวกเขา โดยมีครูเป็นผู้แนะแนวทางให้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุข
ความสัมพันธ์ในทางบวก (positive relationship) ในที่นี้หมายถึงการสร้างมิตรภาพระหว่างครูกับผู้เรียนและผู้เรียนด้วยกัน โดยครูควรทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการให้ความเป็นกันเอง ด้วยความเข้าใจเพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยในการเรียนและกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาปัญหาต่าง ๆ อีกทั้งการแสดงออกถึงความรักและห่วงใยผู้เรียนในทุกเรื่องจะทำให้พวกเขาปลอดภัยและรู้สึกว่า ไม่ว่าพวกเขาจะเจอปัญหาใดในชีวิต อย่างน้อยก็มีครูที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนพวกเขาอยู่เสมอ
การตระหนักถึงความสำคัญและเป้าหมายในการดำเนินชีวิต (meaning and purpose) เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตซึ่งย่อมแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญยิ่งคือ การค้นหาว่าอะไรคือเป้าหมายในชีวิตของตนเอง การค้นหาอาจมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และแรงบันดาลใจ เช่น การสร้าง workshop เล็ก ๆ ในห้องเรียน การจัดหรือหากิจกรรมค่ายมาแนะนำ และโครงการจิตอาสา ฯลฯ จากนั้นจึงหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายนั้น ๆ ได้ต่อไป
ความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem) เป็นการทำให้ผู้เรียนรู้สึกภูมิใจในตนเอง โดยการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ หรือแบบวัดและประเมินให้หลากหลายสอดรับกับความหลากหลายของผู้เรียน ทำให้พวกเขาได้ทำในที่สิ่งตนถนัด นอกจากนี้ ครูควรลบค่านิยมการชื่นชมเด็กเรียนเก่ง แล้วหันมาชื่นชมเด็กตั้งใจเรียน กล่าวคือ ครูควรชื่นชมที่กระบวนการการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าผลของความสำเร็จ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จของแต่ละคนได้

         ผู้เขียนเจอหนังสือดีเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงการค้นหาคำตอบในการแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้าและกล่าวถึงความเชื่อผิด ๆ ในการรับมือกับโรคนี้ หนังสือแปลเล่มนี้มีชื่อว่า “โลกซึมเศร้า” หรือ “Lost Connections” ที่เขียนโดย โยฮันน์ ฮารี หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการทดลองและการสนับสนุนผ่านผลงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าด้วยการซื้อยาต้านหรือบรรเทาโรคมาทานเอง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่เสี่ยง หนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงซึ่งเกิดจากการดำเนินชีวิต และแก้ไขปัญหาจากสาเหตุเหล่านั้น นอกจากนี้ ผู้อ่านจะได้ย้อนกลับมามองวิถีของชีวิตตนเองมากขึ้นว่าเป็นไปอย่างปกติหรือไม่ หากรู้ว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า ก็อย่าหลงทางในโลกซึมเศร้า แล้วรีบหันมาแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าอย่างถูกวิธี

         บทบาทของครูในยุคสมัยนี้ คือเป็นทั้งผู้สร้างและซ่อมเกราะป้องกันคือ “สร้างเสริม” จิตใจของผู้เรียนให้สมบูรณ์ และ “ซ่อมแซม” จิตใจที่อยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวก เมื่อผู้เรียนมี “เกราะป้องกันที่แข็งแรง” นั่นคือ มีภูมิคุ้มกันในตัว พวกเขาก็จะสามารถใช้ชีวิตเพื่อเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขใจ ห่างไกลจากโลกซึมเศร้า ครูเองก็อย่าละเลยที่จะหันมามองสภาพจิตใจของตนเองด้วยเช่นกัน

อ้างอิง
คาลิล พิศสุวรรณ. (ม.ป.ป.). ‘โลกซึมเศร้า’ หนึงสือของโยฮันน์ ฮารี ที่บอกว่าโรคซึมเศร้าคือเรื่องที่โครงสร้างทางสังคมต้องถูกตั้งคำถาม. a day. https://adaymagazine.com/lost-connections

Bookscape. (2563, 28 เมษายน). โลกซึมเศร้า (ฉบับย่อ). BOOKSCAPE. https://bookscape.co/lost-connections-summary

Bookscape. (2563, 20 สิงหาคม). อ่าน ‘โลกซึมเศร้า’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ – (1). BOOKSCAPE. https://bookscape.co/lost-connections-review-prasert-1

drpanom. (2563, 25 ตุลาคม). โรงเรียนยุคใหม่ ไร้โรคซึมเศร้า. https://drpanom.wordpress.com/2020/10/20


TAG: #โรคซึมเศร้า #Well Being #จิตวิทยาเชิงบวก #Bullying #Self-esteem #Positive relationship #Positive emotional #SEL #Social Emotional Learning #Positive psychology #จิตวิทยาเชิงบวกมีอะไรบ้าง