Knowledge

ส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคม ด้วยห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางเพศ

ส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคม ด้วยห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางเพศ

 2 years ago 2015

เรียบเรียงโดย จิราเจต วิเศษดอนหวาย

           พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมในมิติทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความรุนแรงในสังคมโลกที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศ ปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งเพศชายหญิงตามกรอบสังคม จึงมีหลายประเทศในแถบยุโรปที่เริ่มจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้และการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ให้มีความเป็นมิตรต่อความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิด Gender Neutral หรือ ความเป็นกลางทางเพศ

           วัยเด็ก เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และเริ่มต้นวางรากฐานความเข้าใจในชีวิต การจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เป็นกลางทางเพศจะช่วยให้เขาได้รับโอกาสพัฒนาทักษะชีวิตทุกด้าน เช่น การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนที่สวีเดน มีนโยบายส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางเพศ หรือโรงเรียนในประเทศอังกฤษที่สร้างห้องน้ำแบบไม่ระบุเพศในโรงเรียนประถมศึกษา นอกจากนี้ ครูยังร่วมสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและไม่อดกลั้นต่อความรุนแรงในเรื่องเพศสภาพ (zero tolerance approach to violence against LGBTQ+) เช่น มีภาพหรืองานศิลปะสีรุ้งในห้องใดห้องหนึ่งในโรงเรียน วางธงสีรุ้งที่บ่งบอกความหลากหลายทางเพศตามจุดต่าง ๆ ในโรงเรียน ระมัดระวังการใช้คำที่แบ่งแยกเพศ เพื่อให้เด็กสะดวกใจและกล้าที่จะเปิดเผยเพศสภาพของตนเอง (come out) และโรงเรียนควรมีนโยบายชัดเจนในเรื่องป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกด้วยเหตุแห่งเพศอย่างเข้มแข็ง

           มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงเด็กในสภาพแวดล้อมแบบเป็นกลางทางเพศไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางด้านลบ ไม่ว่าด้านพัฒนาการและอารมณ์ ผลการวิจัยระยะเวลากว่า 20 ปี จากการนำแนวคิดความเป็นกลางทางเพศไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรแกนกลางของประเทศสวีเดน เมื่อเทียบเด็กจากโรงเรียนอนุบาลแบบดั้งเดิม กับเด็กจากโรงเรียนที่เป็นกลางทางเพศซึ่งมีแนวโน้มจะเล่นกับเด็กที่มีเพศแตกต่างจากตนเองมากกว่า พบว่าผลจากการเล่นกับกลุ่มเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่มั่งคงและมีทักษะทางสังคม ที่มากกว่าเด็กซึ่งได้รับการปลูกฝังทางเพศอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า เด็กผู้ชายที่ถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมแบ่งแยกเพศชัดเจน มีแนวโน้มจะโตไปเป็นคนก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างเป็นกลางทางเพศ

           สังคมไทยในอนาคตอาจต้องปลูกฝังค่านิยมใหม่ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งผู้คนที่มีอัตลักษณ์หลากหลายอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าในตัวเอง โดยเริ่มต้นจากห้องเรียนเป็นก้าวแรก และมีคุณครูเป็นผู้ปักธงชัยคนแรกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เกิดขึ้นจริง

แหล่งอ้างอิง
Disha Roy Choudhury. (2019 December 13). Gender-neutral parenting will help children develop higher emotional intelligence. Retrieved June 3, 2020 from https://bit.ly/3y6g9bb 

Ellen Barry. (2018 March 24). In Sweden’s Preschools, Boys Learn to Dance and Girls Learn to Yell. Retrieved June 3, 2020, from https://www.nytimes.com/2018/03/24/world/europe/sweden-gender-neutral-preschools.html

Liesl Goecker. (2018 Mar 30). The Results of Sweden’s Extreme Gender‑Neutral Education. Retrieved June 3, 2020, from https://theswaddle.com/the-results-of-extreme-gender-neutral-education


TAG: #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ #Social Emotional Learning #Social Learning #Emotional Learning #SEL #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #Gender Neutral #ความเป็นกลางทางเพศ #ความหลากหลายทางเพศ #สอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ