Knowledge

บทบาทของครอบครัว โรงเรียนและชุมชน กับ การป้องกันการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน

บทบาทของครอบครัว โรงเรียนและชุมชน กับ การป้องกันการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน

 3 years ago 6672

ผู้เขียน: กนกวรรณ สุภาราญ ครูจาก Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ปัจจุบันการรังแกกันในกลุ่มนักเรียนส่งผลกระทบกลายเป็นปัญหาสังคม และการใช้ความรุนแรงผ่านการกระทำ และคำพูดที่ไม่อาจมองข้ามได้ มุมมองและทัศนคติที่มีต่อความรุนแรง และการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมเพื่อสร้างความบันเทิงฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดความเคยชิน และกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คนในสังคมจะมองคำพูดหรือการกระทำรุนแรงเป็นเรื่องสนุกสนาน ทั้งๆ ที่ควรแก้ไขประเด็นดังกล่าว และหันมามุ่งเน้นเรื่องการเห็นอกเห็นใจ การเคารพในความรู้สึก และร่างกายผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น อาศัยกระบวนการที่เหมาะสม และความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยทางสังคมที่ส่งอิทธิพลต่อเด็ก และเยาวชนในการปรับพฤติกรรม เปลี่ยนมุมมองต่อการกลั่นแกล้งรังแกกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การจะแก้ไข และป้องกันปัญหาการรังแกกันควรเริ่มกระทำตั้งแต่ครอบครัว สอดคล้องกับการดูแลส่งเสริมจากโรงเรียน และการจัดสภาพแวดล้อมของชุมชน ร่วมด้วยช่วยกันนั่นเอง

“เลี้ยงดูอย่างมีเหตุผล รับฟังด้วยความเข้าใจ”
          บทบาทของครอบครัวพบว่าสำคัญที่สุดต่อการป้องกันพฤติกรรมการรังแกกันในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากครอบครัวคือ จุดเริ่มต้นของการหล่อหลอมพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนลักษณะแบบใดแบบหนึ่ง จากงานวิจัยของเกษตรชัย และหีม และ อุทิศ สังขรัตน์ เรื่อง ปัจจัยในการพยากรณ์พฤติกรรมรังแกของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดสงขลา พบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมรังแกผู้อื่นมักเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างเข้มงวด ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้กำลังและความรุนแรงในการแก้ปัญหา ส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมเรียนรู้จากตัวแบบ และเลียนแบบวิธีการเหล่านั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา อีกทั้งใช้การรังแกในการสร้างอำนาจ และการยอมรับในกลุ่มเพื่อนฝูง นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อการประพฤติในทางที่ไม่ดีตามมาอีกหลายประการ เช่น การใช้สารเสพติด การทำร้ายร่างกายและการรีดไถ เป็นต้น
          การจะแก้ไขหรือหาทางป้องกันพฤติกรรมการรังแกในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ครอบครัวจึงถือเป็นส่วนสำคัญหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มที่การปรับและระวังพฤติกรรมของตนเองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในงานวิจัยชิ้นเดียวกันพบว่า แท้ที่จริงแล้วเมื่อเด็กเกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม ส่วนมากเด็กหวังพึ่งคำปรึกษา และกำลังใจจากครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่สุด หากครอบครัวไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับเด็กได้ เด็กก็จะหันหน้าเข้าหากลุ่มคนที่สำคัญรองลงมาซึ่งก็คือ เพื่อนสนิท ตามลำดับ ดังนั้น ครอบครัวผู้ปกครองควรเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเองและสังเกตลักษณะการเลี้ยงดูของตนเป็นส่วนแรก ถ้าหากผู้ปกคอรงเคยเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างเข้มงวดก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงดูอย่างเข้าอกเข้าใจ ให้คำปรึกษารับฟังความเห็นของบุตรหลานอย่างเปิดใจ และร่วมมือกันหาทางออกที่เหมาะสมด้วยเหตุผลมากยิ่งขึ้น

“โรงเรียนร่วมค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา รับฟังความเห็นที่หลากหลาย ถ่ายทอดสิ่งที่เหมาะสม”
          นอกจากการปรับตัวของครอบครัวในการรับมือ และป้องกันปัญหาการรังแกกันในกลุ่มเด็ก และเยาวชน บทบาทของโรงเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กมาใช้ชีวิต และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ร่วมกัน ด้วยความที่เด็กแต่ละคนต่างเติบโต และถูกสั่งสอนมาคนละแบบ การเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดีย่อมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา บทบาทของครูและบริบทแวดล้อมในโรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการอยู่ร่วมกันของเด็ก ไม่เพียงถ่ายทอดความรู้วิชาการ แต่ยังถ่ายทอดเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สังคมขนาดย่อม เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตนอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม เมื่อเกิดปัญหาก็เรียนรู้จะแก้ไขตามกฎของการอยู่ร่วมกัน ดังนั้นแนวทางในการจัดการป้องกันการรังแกกันในกลุ่มเด็กจึงแบ่งออกเป็นส่วนของการออกนโยบายการจัดการส่งเสริมรวมทั้งป้องกันประเด็นต่างๆ ผลักดันให้เกิดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน อีกทั้งในส่วนผู้ปฏิบัติงานหรือ บทบาทของครูที่มีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียนก็ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ดีผ่านการประพฤติตนและเลือกใช้วิธีการปรับพฤติกรรมที่ตั้งอยู่บนการใช้เหตุและผล มีการให้การปรึกษารูปแบบกลุ่มเพื่อนมากขึ้น เพื่อช่วยกันหาทางออกของปัญหาและแนวทางการปฏิบัติตนในกลุ่มร่วมกัน การทำงานอย่างสอดคล้องกันระหว่างส่วนบริหาร ส่วนปฏิบัติการ และการสนับสนุนของกลุ่มเพื่อน จะทำให้การขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันปัญหาการรังแกกันในเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ชุมชนร่วมใจป้องกันภัยการรังแก”
          บทบาทของชุมชนในการป้องกันแก้ไขปัญหาการรังแก คือการร่วมกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันสอดส่อง รายงานและตักเตือนเมื่อพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งจัดสภาพแวดล้อมของชุมชนแหล่งที่อยู่เพื่อลดโอกาสการใช้สถานที่เป็นที่รวมตัวทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม หากคนในชุมชนไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง และตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการรังแกต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งบางส่วนก็อาจกระทบมาถึงลูกหลานของตน การร่วมมือร่วมใจกันจึงเป็นแนวทางที่ทำได้โดยง่ายและช่วยลดโอกาสเกิดพฤติกรรมการรังแกในกลุ่มเด็กและเยาวชนอีกทางหนึ่ง
          ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างบทบาทครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันของกลุ่มเด็กและเยาวชน จากภายในสู่ภายนอก เริ่มต้นจากหน่วยที่เล็กและใกล้ตัวเด็กที่สุดและค่อยๆ ขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยทางสังคมที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ เพื่อปลูกฝังแนวทางที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกลายเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ในที่สุด

ที่มา
เกษตรชัย และหีม และ อุทิศ สังขรัตน์. (2557). ปัจจัยในการพยากรณ์พฤติกรรมรังแกของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดสงขลา. วารสารพัฒนบริหารศาสตร์. 54(1). 229-237.

จุไรรัตน์ พงษ์ดัด. (2553). รูปแบบการรังแกกันและการจัดการปัญหาการรังแกกันของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนเขตปริมณฑล. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประชาการศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ธีรวุฒิ นิลเพ็ชร. (2561). ความรุนแรงในครอบครัว: การวิเคราะห์สาเหตุและการป้องกันปัญหาในสังคมไทย. วารสารพฤติกรรมศาสตร์. 24(2)12-13

Photo by Perry Grone on Unsplash


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #Bullying #การล้อแกล้งรังแก #Bullyลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน #Cyberbully