Knowledge

กล่องการเรียนรู้สามัญประจำบ้าน

กล่องการเรียนรู้สามัญประจำบ้าน

 4 years ago 3677

ผู้เขียน: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer และศิษย์เก่ารุ่นที่ 2 Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          สำหรับนักเรียน และคุณครูหลายๆ คน การที่มีเวลาในช่วงปิดเทอมยาวนานขึ้น อาจหมายถึงช่วงเวลาที่เรารู้สึกอยากใช้ไปกับการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อพัฒนาทักษะที่เราคิดว่าจะต้องใช้ต่อไปในอนาคต เพื่อสนองตอบต่อความอยากรู้ของตัวเองต่อเรื่องบางเรื่อง หรือแม้แต่เพื่อคลายความเบื่อหน่ายในช่วงที่ต้องเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัยก็ตาม บทความนี้จะเสนอหนึ่งในวิธีการสร้าง “กล่องการเรียนรู้ประจำบ้าน” ซึ่งเป็นระบบ และเครื่องมือที่จะสนับสนุนให้การเรียนรู้ในเคหสถานของแต่ละคนมีความหมาย และพาเราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น

เริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมาย
          โดยหัวใจของการตั้งเป้าหมายคือ “ความชัดเจน” ในเป้าหมายนั้น เช่นการตั้งเป้าหมายว่า “เราจะอ่านหนังสือตอน 3 ทุ่มของทุกวัน ให้ได้วันละอย่างน้อย 7 หน้า” มีแนวโน้มที่จะพาให้เราเปิดหนังสืออ่านตามที่ตั้งใจไว้ มากกว่าการตั้งเป้าไว้จาง ๆ เช่น “เราจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น”

ออกแบบพื้นที่สำหรับการเรียนรู้
          งานวิจัยพบว่าสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีผลต่อการความสามารถในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ ของเราที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือในร้านกาแฟที่มีเสียงดังๆ บนเก้าอี้ในสวนสาธารณะช่วงเดือนธันวาคม หรือในห้องที่เต็มไปด้วยญาติๆ ในวันตรุษจีน ก็จะส่งผลให้เราสามารถจดจ่อได้ระดับที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงควรออกแบบพื้นที่เฉพาะสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่มุมใดมุมหนึ่งของห้อง ไปจนถึงห้องต่างหากที่แยกออกมา และตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ หรือการทำงานเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างกลไกให้สมองของเราเตือนตัวเองต่อไปในอนาคตว่า เมื่อเราพาตัวเองเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำ คือการอ่านหนังสือ ดูคอร์สออนไลน์ เขียนรายงาน หรือกิจกรรมอื่นใดที่เราต้องอาศัยสมาธิเพื่อการจดจำข้อมูล หรือสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง และมีสติพอที่จะพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเราต้องการที่จะพักผ่อน คุยกับเพื่อน ๆ ดู Netflix หรือเล่นเกมส์ออนไลน์ เพื่อให้สมองของเราคุ้นเคยกับพฤติกรรมของเราในสถานที่นั้นๆ เคล็ดลับในการออกแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในห้องของคุณโดยสังเขป มีดังนี้

1) ความเหมาะสมของแสงสว่าง แสงธรรมชาติคือแสงที่ดีที่สุดต่อห้องทำงาน หรือห้องเรียน แต่ถ้าเราไม่สามารถจัดสรรค์แสงธรรมชาติได้ การจัดไฟที่มีความสว่าง และตำแหน่งต้นทางของแสงที่มีความพอดี ก็จะช่วยให้เราสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรากำลังตั้งใจทำอยู่ได้มากขึ้น
2) ความเหมาะสมของเสียงรอบข้าง ในกรณีส่วนใหญ่ เพลงที่มีเนื้อร้องมักจะรบกวนการจดจำข้อมูล เพราะเนื้อหาในเพลงมักเข้ามารบกวนเนื้อหาที่เรากำลังรับเข้าไปจากสื่อที่อยู่ตรงหน้าเรา ดังนั้นแนะนำให้ลองเปลี่ยนเป็นเพลงบรรเลง เสียงบรรยากาศ (ambient noise) ที่ไร้คำพูด หรือแม้แต่ความเงียบโดยสิ้นเชิง
3) สิ่งที่ทำให้คุณอยากก้าวต่อไป ถึงจุดหนึ่งเราอาจจะต้องทำงาน หรือศึกษาข้อมูลที่เรารู้สึกว่ามันน่าเบื่อหน่าย และภาพของเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ตั้งแต่ต้นอาจจะค่อย ๆ เลือนลางไป หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยคุณได้ อาจเป็นข้อความจากคนที่คุณชื่นชม รูปภาพของครอบครัว หรืองานศิลปะบางอย่างที่มีความหมายกับคุณ ที่ถูกติดตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งการเรียนรู้นั้น ที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสายลมที่มาพัดไฟที่กำลังจะมอดไปในหัวใจของคุณ ให้กลับมาลุกโชดช่วงขึ้นมาอีกครั้ง

ลงท้ายด้วยการกลับมาสะท้อนตัวเอง
          หนึ่งส่วนที่ขาดไม่ได้ใน “กล่องการเรียนรู้ประจำบ้าน” คือ การสะท้อนตัวเอง (self-reflection) ซึ่งเป็นการออกแบบช่วงเวลาช่วงหนึ่งที่เราจะได้กลับมามองย้อนไปที่การเรียนรู้ หรือการทำงานของเราที่มาตลอดทั้งวัน (หรือแม้แต่ตลอดสัปดาห์) ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบความรู้สึก วิเคราะห์ถึงความสอดคล้องของสิ่งที่เราทำ และผลลัพธ์ที่เราต้องการให้เกิดขึ้น รวมไปถึงหาจุดที่เราอาจรู้สึกว่าตัวเองยังทำไม่ได้ดี เพื่อกลับมาวางแผนและพัฒนาการเรียน และการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพ และมีความหมายกับเรามากยิ่งขึ้น อีกทั้งการสะท้อนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ยังจะช่วยให้เรามีทักษะของการเป็น “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” อีกด้วย

อ้างอิง
Rousmaniere, D. (2016, March 9). Make Learning a Habit. Retrieved April 10, 2020, from https://hbr.org/tip/2016/03/make-learning-a-habit

How to Make Your Environment the Best Study Space. (2016, September 6). Retrieved April 10, 2020, from https://www.ameritech.edu/blog/tips-make-environment-best-study-space/

Reflection: What is it and why is it useful? http://www.docs.hss.ed.ac.uk/iad/Learning_teaching/Academic_pastoral/Reflect/Reflection_explanation_HO.pdf

Smith. (1979, January 1). A comparison of two techniques for reducing context-dependent forgetting. Retrieved April 10, 2020, from https://link.springer.com/article/10.3758/BF03198309


TAG: #โควิด19 #Covid19 #โรคระบาดใหญ่ #กล่องการเรียนรู้