Knowledge

ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าครูจะบอกว่า วันนี้ฉันรู้สึกไม่โอเค

ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าครูจะบอกว่า วันนี้ฉันรู้สึกไม่โอเค

 4 years ago 4081

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์ 
แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด ส่งผลให้ครูทั่วโลกส่วนหนึ่งต้องปรับการสอนมาเป็นออนไลน์กันแบบแทบไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่เรากังวลกันมากในช่วงนั้น เห็นจะหนีไม่พ้นอุปกรณ์ โปรแกรม และอินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้เพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่หยุดชะชักลง ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลไม่เฉพาะต่อการปรับตัวเรื่องการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลก สภาพจิตใจของครูแต่ละคนตอนนี้อาจจะย่ำแย่ไม่ต่างกัน นี่อาจเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ปัญหาในเชิงกายภาพ

          จากผลการสำรวจ EDUCA Survey 2020 ที่สำรวจความต้องการของบุคลากรทางการศึกษาในภาวะวิกฤต COVID-19 โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 817 คน พบว่า ปัญหาที่ครูพบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ปัญหาสุขภาพใจ 74.05% ปัญหาการเงิน 60.59% ปัญหาสุขภาพกาย 41.86%

          ด้านผลสำรวจ “คนเครียดโควิด-19” ของสำนักซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ได้ศึกษาประชาชนทุกอาชีพ จำนวน 1,012 คน พบว่า 67.5% มีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาของคนทั่วโลกในช่วงไวรัสระบาด ไม่จำกัดเฉพาะอาชีพครูเท่านั้น แล้วในช่วงเวลานี้ อะไรคือสิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก เมื่อต้องรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้น

          ครูอเมริกันคนหนึ่งได้ออกมาเล่าเรื่องราวของเธอถึงการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ที่อาจเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของครูไทยหลายๆ คน

          “ฉันเริ่มตั้งคำถามว่าในเมื่อทุกอย่างมันไม่มีอะไรเป็นปกติเลย ฉันจะทำให้นักเรียนของฉันคงความปกติต่างๆ ไว้ได้อย่างไร” เมื่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เราเคยเผชิญ เธอเรียนรู้ว่า สิ่งที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านวิกฤตไปได้ ไม่ใช่การทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการยอมรับว่า ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน หรือไม่ได้อยู่ตรงไหน การที่เรารู้สึกไม่โอเค มันเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

          สำหรับเธอแล้ว ครูคืออาชีพของฮีโร่ที่เห็นแก่ผู้อื่นเสมอ และก็มาพร้อมกับพละกำลังที่ไร้ขอบเขต ความเอาใจใส่แบบไม่มีที่สิ้นสุด เธอมองว่าตัวเองเป็นคนมองโลกในแง่บวกสุดๆ เรียกได้ว่าพลังของครูคนนี้มีมากมายเหลือล้นที่จะส่งต่อถึงนักเรียนท่ามกลางวิกฤตนี้

          กิจวัตรประจำวันของเธออาจไม่ต่างกับครูไทย ที่ยังคงตื่นนอนในเวลาเดิมๆ ยังคิดถึงนักเรียนอยู่เสมอ แม้ว่าจะยังคงเห็นหน้านักเรียนของเธอได้ผ่าน Zoom การเรียนรู้และการสร้างปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนกับนักเรียนยังคงทำได้อยู่ มีการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองผ่านอีเมล ข้อความหรือแม้แต่ทางโทรศัพท์ สำหรับเธอแล้ว ช่วงเวลานี้เป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อเปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างแท้จริง

          แต่เมื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ดำเนินไปได้หลายสัปดาห์ เธอเริ่มรู้สึกว่าเกิดปัญหาเข้าให้แล้ว พลังด้านบวกและการมองโลกในแง่ดีของเธอกำลังลดถอยลงเรื่อยๆ เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยตารางที่แน่นตั้งแต่เช้ายันเย็น ทั้งการเรียนการสอนและชีวิตส่วนตัว ในเวลา 24 ชั่วโมง เธอพบทั้งความสุข ความกังวล ความกลัว ความเบื่อหน่าย แล้วก็ความกระวนกระวาย

          ภาวะอารมณ์ของครูหลายๆ คนตอนนี้ มีทั้งขึ้นและลงเหมือนกับนั่งรถไฟเหาะ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราควรละเลย เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และไม่ใช่ความล้มเหลว หากเราจะยอมรับว่า วันนี้รู้สึกไม่โอเค เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักเรียนและครอบครัวของของครูทุกคนรู้ว่า เราเองก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง

อ้างอิง
Peroff, L. W. (2020, April 13). Teachers, If You're Not OK Right Now, You're Not Alone. Retrieved April 23, 2020, from https://www.edweek.org/tm/articles/2020/04/14/teachers-if-youre-not-ok-right-now.html

Matichon. (2020, April 23). สังคมยุค'โควิด' 'ไทย'ติดเชื้อลด แต่'เครียด'ทะยานขึ้น. Retrieved from https://www.matichon.co.th/covid19/news_2153378


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #โควิด19 #Covid19 #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ