Knowledge

อันตรายรอบด้านของนักเรียนอาจเกิดจากใครก็ได้

อันตรายรอบด้านของนักเรียนอาจเกิดจากใครก็ได้

 3 years ago 7107

แปลและเรียบเรียง: สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

          ความรุนแรงในโรงเรียน หมายถึง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนภายในโรงเรียน เยาวชนอาจเป็นเหยื่อ หรือผู้ก่อความรุนแรง หรือพยานในเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน ความรุนแรงในโรงเรียนบางอย่างอาจนำไปสู่อันตรายทางกายและจิตใจ หรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ตาม
          ความรุนแรงในโรงเรียนในไทยถือว่าเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของระบบการศึกษาไทยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวนักเรียน เรามักจะเห็นข่าวสารในโทรทัศน์นำเสนอข่าวความรุนแรงในโรงเรียนมาบ้างแล้ว เช่น ข่าวผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งชักปืนขึ้นหน้าเสาธงขณะที่นักเรียนกำลังเข้าแถว เนื่องจากมีปัญหาด้านชู้สาวกับนักเรียนชั้นม.3 และข่าวอื่น ๆ อีกมากมาย เรามาดูกันว่าความรุนแรงในโรงเรียนในไทยนั้นส่งผลกระทบต่อนักเรียนมากน้อยอย่างไร
          สถิติของ UNESCO (2559) พบว่า นักเรียนไทยที่รักต่างเพศแต่ไม่แสดงออกทางเพศให้เหมือนกับบรรทัดฐานหญิงชาย 24% เคยประสบกับความรุนแรงในโรงเรียน และ นักเรียนไทยที่เคยประสบกับความรุนแรงในโรงเรียนจากเพื่อนเพศเดียวกันถึง 31% ขาดเรียนในช่วง 1 เดือน
สถิติที่รวบรวมจากแบบทดสอบสุขภาพนักเรียนโดยกระทรวงสาธารณสุข (2558) พบว่า นักเรียนไทยอายุ 13 – 15 ปีถึง 29% เคยถูกบูลลี่ในโรงเรียนช่วง 1 เดือนและนักเรียนไทย 26% เคยเกี่ยวข้องกับการทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 ปี
          ผลกระทบของความรุนแรงในโรงเรียนส่งผลกับนักเรียนที่ประสบกับความรุนแรงนั้นโดยตรงอย่างมาก เช่น การขาดเรียนติดต่อกัน ประสิทธิภาพทางการเรียนและผลการเรียนที่ลดลง หรือแม้กระทั่งการลาพักและลาออกจากโรงเรียน และการต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจากปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต และผลกระทบมิได้ส่งผลต่อผู้ที่ประสบกับความรุนแรงนั้นโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายมิติ เช่น ความกังวลของนักเรียนคนอื่นและผู้ปกครอง ภาพลักษณ์ของโรงเรียน เป็นต้น
          วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงภายในโรงเรียนนั้นค่อนข้างซับซ้อนและเฉพาะตัว เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคล (ข้อสอบวัดจรรยาบรรณครูอาจไม่ช่วยอะไรได้มากนักกับปัญหานี้) วิธีที่อาจจะทำให้นักเรียน ครู หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการไม่กล้าก่อความรุนแรงภายในโรงเรียนมีทั้งวิธีเชิงบวกและเชิงลบ วิธีเชิงบวกอาจจะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ปลอดภัยภายในห้องเรียน การเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้นักเรียนให้เห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือรายงานให้ครูทราบเมื่อพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจากใครก็ตามภายในโรงเรียน
          ส่วนวิธีเชิงลบจะเป็นการเพิ่มโทษให้กับผู้ที่ก่อความรุนแรง เช่น การเพิ่มเงื่อนไขการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน การลดขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของครู หรือ การให้ออกจากราชการและติดบัญชีดำของผู้อำนวยการ เป็นต้น วิธีดังกล่าวข้างต้นคงเป็นวิธีที่ดูรุนแรงไม่น้อย แต่ว่ามันน่าจะรุนแรงมากพอที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียนขึ้นอีก

ที่มา

Centers for Disease Control and Prevention. (2016). School Violence Fact Sheet. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.cdc.gov/violenceprevention/pdf/school_violence_fact_sheet-a.pdf

UNESCO. (2017). School violence and bullying: global status report. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000246970

UNICEF. (2018). Half of world’s teens experience peer violence in and around school. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.unicef.org/thailand/press-releases/half-worlds-teens-experience-peer-violence-and-around-school-unicef


TAG: #สุขภาพจิตและกาย #จิตวิทยาแนะแนว #บูลลี่ #การล้อแกล้ง