Knowledge

กิจกรรมทำความรู้จักให้ใกล้ชิด แบบไม่ชิดใกล้

กิจกรรมทำความรู้จักให้ใกล้ชิด แบบไม่ชิดใกล้

 1 year ago 4531

จิราพร เณรธรณี

          เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม ผู้เรียนแต่ละคนต่างก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้พบหน้ากันทั้งเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ เพราะการเปิดเทอมในครั้งนี้ดูเหมือนจะมีโอกาสสูงในการกลับมาเรียนออนไซต์ด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยังคงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพราะหากมีการระบาดที่รุนแรงจนส่งผลให้ต้องกลับไปเรียนออนไลน์เหมือนเดิม กิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการเรียนการสอนคงไม่สนุกเท่าที่ควร ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นที่จะช่วยสร้างบรรยากาศในวันแรกของการเปิดเทอมให้สนุกสนานและเป็นกันเองมากที่สุด ก็คือ กิจกรรมการละลายพฤติกรรม (Ice breaking) นั่นเอง

5 กิจกรรมละลายพฤติกรรมในช่วง Social Distancing
          ประโยชน์การใช้กิจกรรมละลายพฤติกรรมมีขึ้น คือเพื่อเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมทั้งกาย และใจก่อนเริ่มทำบางสิ่งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเข้ากันได้ดีขึ้น บทความนี้มีกิจกรรมที่อยากแนะนำ 5 กิจกรรม ดังนี้
1. Two truths and a lie กิจกรรมนี้ครูได้ให้ผู้เรียนเขียนข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง 3 ข้อความ โดย มี 1 ข้อความที่เป็นเรื่องเท็จ แล้วผู้เรียนคนอื่น ๆ ก็จะถามคำถามเพื่อหาข้อมูลที่จะมาตัดสินได้ว่า ข้อความใดที่เป็นเท็จ กิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้เรียน รวมทั้งครูได้ทำความรู้จักกันในช่วงแรกของการเปิดเทอมและการเจอหน้ากัน
2. แลก (วาด) นามบัตร กิจกรรมนี้ผู้เรียนแต่ละคนจะได้วาดรูป ซึ่งครูอาจจะกำหนด Theme โดยใช้เวลาวาดประมาณ 1-2 นาที เมื่อวาดเสร็จให้ผู้เรียนส่งกระดาษของตนเองเวียนไปทางซ้าย หรือขวา แล้วให้เพื่อนที่ได้กระดาษวาดรูปเพิ่มลงไป เพื่อแต่งเติมรูป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้เรียนวาดแมว เพื่อนอาจวาดแว่นตาให้แมว เพราะเพื่อนเจ้าของบัตรใส่แว่น วาดหนังสือให้แมว เพราะเพื่อนเจ้าของบัตรชอบอ่านหนังสือ จากนั้นจะให้ผู้เรียนที่แต่งเติมรูปเข้าไปมาอธิบายถึงรูปที่วาดลงไปว่าคืออะไร ทำไมถึงวาดรูปนั้น กิจกรรมนี้เป็นการทำความรู้จักผ่านการสังเกตเพื่อนผ่านนามบัตรที่สร้างขึ้นจากเพื่อน ๆ ในห้อง ทั้งยังเป็นกระจกเงาให้ผู้เรียนได้สะท้อนเห็นตัวเองผ่านมุมมองของเพื่อนอีกด้วย
3. Walk & Stop กิจกรรมนี้ผู้เรียนจะได้กระจายตัวกันในพื้นที่กว้าง ซึ่งครูอาจจะใช้สนามกีฬา เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีการเคลื่อนที่ของผู้เรียนแต่ละคน โดยครูจะมีคำสั่ง โดยเริ่มต้นจากคู่คำสั่งว่า “Walk” และ “Stop” โดยเมื่อได้ยินคำว่า “Walk” ผู้เรียนจะเริ่มเดิน และเมื่อได้ยินคำว่า “Stop” ผู้เรียนจะหยุดเดิน ให้ผู้เรียนปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ๆ แล้วครูอาจเพิ่มความท้าทาย โดยการสลับคำสั่งของคำ จาก “Walk” เดิน กลายเป็น หยุด จาก “Stop” หยุด กลายเป็น เดิน เมื่อชินแล้วก็อาจเปลี่ยนคู่คำเป็นอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน กิจกรรมนี้นอกจากสร้างความสัมพันธ์แล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารและการมีปฏิภาณไหวพริบของผู้เรียนด้วย
4. ทายชื่อของฉัน (Guess my name) กิจกรรมนี้ครูจะให้ผู้เรียนเขียนชื่อคนที่มีชื่อเสียงแล้ว ติดไว้ด้านหลังของผู้เรียนแต่ละคน แล้วให้เพื่อนคนอื่น ๆ ถามคำถามเพื่อค้นหาว่าชื่อคนดังที่เพื่อนเขียนนั้นเป็นใคร ในกิจกรรมนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่า ครูอาจให้ผู้เรียนบอกเหตุผลประกอบด้วยว่า ทำไมถึงเลือกบุคคลดังกล่าว และบุคคลที่มีชื่อเสียงอาจจะเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวของผู้เรียนที่ชื่นชอบก็ได้เช่นกัน
5. หน้าตัวตลก กิจกรรมนี้ให้ผู้เรียนแต่ละคนหันหน้าเข้าหากัน โดยเว้นระยะห่าง แล้วให้ ผู้เรียนแต่ละคนทำหน้าขรึมใส่กัน โดยไม่ยิ้ม ใช้เวลาเล่นประมาณ 2 นาที ผู้เรียนคนไหนที่เผลอยิ้มออกมาก็จะออกจากวงของผู้เล่น กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ซับซ้อนและไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ แต่เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุก และยังฝึกการอดทนในตัวผู้เรียนอีกด้วย

          5 กิจกรรมตัวอย่างนี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ง่าย มีวิธีเล่นที่ไม่ซับซ้อน และมีอุปกรณ์ไม่มาก แต่เป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้เรียนทุกคนและเป็นกิจกรรมที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของครูเพื่อให้เหมาะกับบริบทและผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้จริง ดังนั้น การเลือกกิจกรรมและการนำมาประยุกต์ใช้ของครูจึงมีความสำคัญในวัน First Meet มาก

รายการอ้างอิง
Walton, E. (n.d.). 13 fail-safe icebreakers to use in class today. EF. https://www.ef.com/wwen/blog/teacherzone/great-esl-icebreakers-and-warmups/

Mark. (2020, 4 August). COVID19 Safe Back to School Activities. Playmeo. https://www.playmeo.com/safe-back-to-school-activities/

Cannon, W. (2022, 5 April). Best Ice Breaker Games for Your Team Meetings. ProProfs Project. https://www.proprofsproject.com/blog/ice-breaker-games-for-team-meetings/

Faii inskru. (2564, 16 มีนาคม). รู้จักกันอีกนิด ด้วยการ "แลก(วาด)นามบัตร". Inskru. https://inskru.com/idea/-MVts7hAT4GrEvee9pVl

Urbinner. (2564, 10 มีนาคม). การละลายพฤติกรรม หรือ Ice-breaking คืออะไร? ทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร?. https://www.urbinner.com/post/what-is-ice-breaking


TAG: #Social Distancing #Ice Breaking #กิจกรรมละลายพฤติกรรม #การจัดการชั้นเรียน #กิจกรรมที่รักษาระยะห่าง #กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน