Knowledge

จากครูรุ่นพี่สู่ครูรุ่นน้อง : การเตรียมตัวด้านงานสอน

จากครูรุ่นพี่สู่ครูรุ่นน้อง : การเตรียมตัวด้านงานสอน

 2 years ago 6219

สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

         ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2565 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วซึ่งภาคเรียนนี้อาจเป็นภาคเรียนแรกของครูผู้อ่านหลายท่าน และเป็นภาคเรียนแรกในรอบ 2 ปีที่ได้กลับมาเรียนออนไซต์ที่โรงเรียนสำหรับหลายโรงเรียน ครูมือใหม่หลายท่านอาจกังวลถึงวิธีการเตรียมการสอน และวิธีการจัดการในชั้นเรียน เพราะว่าเป็นภาคเรียนแรก ๆ ของตัวเองด้วย หรืออาจเป็นเพราะเตรียมการสอนแบบออนไลน์มาโดยตลอด EDUCA ได้สัมภาษณ์ ครูวิมลฉัตร พันธุรักษ์ ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ ครูธันว์ชนก เติมเกียรติไพบูลย์ และ ครูกชกร เกียรติศรศรี ครูผู้ผ่านทั้งสถานการณ์การสอนออนไลน์ และสอนออนไซต์ผ่าน 3 คำถาม เพื่อนำวิธีการเตรียมการสอน และวิธีการจัดการชั้นเรียนของครูแต่ละท่านมาแชร์ในวันนี้

ตลอดช่วงการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ครูมีวิธีเตรียมการสอนอย่างไรบ้าง
         จากการประสบการณ์ของครูผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 4 ท่านโดยสามารถนำมาสรุปได้ 3 ประเด็นเตรียมความพร้อม และ 4 เทคนิค ใช้เพื่อเตรียมการสอน ดังนี้

         การเตรียมความพร้อมของทั้งครูและเด็ก ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ได้เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งยังสอนออนไลน์ว่าครูต้องเตรียมสื่อการสอน อุปกรณ์การสอน และเนื้อหาที่สอน ในช่วงการสอนออนไลน์ บางโรงเรียนไม่ได้มีโอกาส และความพร้อมทางการศึกษา เช่น การคมนาคมที่ไม่สะดวก ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่จะสอนออนไลน์ ผู้ปกครองอาจไม่สามารถสนับสนุนค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับการมาโรงเรียนแต่ละครั้งได้ ครูจึงต้องอะลุ่มอล่วยให้นักเรียนหาวิธีการต่าง ๆ ให้นักเรียนเรียนให้ได้อย่างสะดวก บางหมู่บ้านถึงขั้นมีตัวแทนชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาอาสาเป็นตัวแทนไปรับสื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนนำมาแจกในชุมชนของตัวแทน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน

         ด้านการสอน ครูต้องสอนให้นักเรียน “เรียนรู้” มากกว่า “เรียน” ด้วยวิธีการสอนที่หลากหลาย อาจใช้เกมบ้าง เรื่องเล่าบ้าง บรรยายบ้าง หรืออาจใช้สิ่งดึงดูดความสนใจของนักเรียน เช่น การแจกสติกเกอร์ไลน์ เพื่อให้กิจกรรมการเรียนรู้ภายในห้องเรียนน่าสนใจ โดยครูอาจหาไอเดียได้จาก YouTube หรือสื่อออนไลน์อื่น ๆ อีกประเด็นหนึ่งคือ ครูต้องเชื่อมโยงกับนักเรียนให้ได้ เนื่องจากเรียนออนไลน์ครูกับนักเรียนค่อนข้างห่างกัน เพื่อให้นักเรียนยังอยู่ในชั้นเรียน รวมถึงครูต้องเตรียมเนื้อหาให้พร้อมก่อนเข้าสอนด้วย

         พยายามหลีกเลี่ยงการบรรยายในชั้นเรียนแบบ Content-based 100% ครูควรใช้วิธีการอื่น ๆ ในคาบเรียนด้วย เพื่อไม่ให้คาบเรียนน่าเบื่อหน่ายสำหรับนักเรียน โดยอาจใช้วิธี Discussion-based คือการใช้เนื้อหาในคาบเรียนนั้นเป็นตัวนำการอภิปรายภายในห้องเรียน ครูฐาปณี เสนอวิธีเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างสร้างสรรค์ ส่วนครูวิมลฉัตร พันธุรักษ์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ เสนอวิธีการ “เล่าให้ฟัง” คือไม่ยึดติดกับตัวข้อความของสื่อนำเสนอ แต่ยึดติดกับตัวเนื้อหา สรุปให้นักเรียนฟังอย่างง่าย และกระชับ เพื่อให้นักเรียนจดจำความรู้นั้นได้โดยง่ายและนำเวลาที่บรรยายเนื้อหาไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบอื่น

         ครูกชกร เกียรติศรศรี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ฝากเทคนิค 4 ประการให้ไปใช้เพื่อเตรียมการสอนได้อย่างคร่าว ๆ ดังนี้
1) เติมแบตให้เกิน – ครูต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสอน เพราะว่างานสอนใช้พลังงานค่อนข้างมาก
2) อย่าเมิน IT – ครูต้องศึกษาวิธีการใช้งานเกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนการสอนและระบบออนไลน์
3) เนื้อหาต้องดี – ครูต้องคัดเนื้อหาแล้วนำเฉพาะสาระสำคัญไปสอน พร้อมทำแบบฝึกหัดไปพร้อมกับนักเรียน ไม่ให้เหลือเป็นการบ้าน
4) เทคนิคต้องมา – ครูต้องหาสิ่งที่ดึงดูดความสนใจให้นักเรียนเข้ามาสนใจชั้นเรียนให้ได้

ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกันออกแบบชั้นเรียนอย่างไร

         ในส่วนของการสอนในชั้นเรียน ครูต้องใช้คาบแรกเพื่อสร้างข้อตกลงภายในชั้นเรียน และสอบถามวิธีการเรียน วิธีการประเมิน รวมถึงปัญหาของนักเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ภายในห้องเรียน เพื่อกำหนดแนวทางการเรียนการสอนรวมกัน หลังจากคาบแรก ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้บอกปัญหาที่นักเรียนได้พบเจอแล้วช่วยกันแก้ปัญหา เช่น นักเรียนอยากให้ครูอธิบายเนื้อหาช้า ๆ หรืออยากให้ครูหากิจกรรมมาทำในห้องเรียนแทนการบรรยาย ครูธันว์ชนก เติมเกียรติไพบูลย์ โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ เสนอว่า ครูอาจแจกแจงให้นักเรียนได้ทราบถึงวิธีการเรียน และการประเมินต่าง ๆ และให้นักเรียนเลือกวิธีการของตัวเองในแต่ละห้อง เช่น บางห้องอาจเน้นการเก็บคะแนนด้วยชิ้นงาน บางห้องอาจทุ่มให้กับคะแนนสอบ รวมถึงครูอาจให้นักเรียนช่วยกันออกแบบสิ่งต่าง ๆ ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและใช้ความคิดสร้างสรรค์และความกล้าแสดงออก เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ของทุกคน

เพื่อนครูช่วยเตรียมการสอนให้เราได้อย่างไร

         บางเนื้อหาที่อาจอธิบายยากหรือเข้าใจยาก ครูฐาปณี กล่าวว่า ครูที่มีประสบการณ์มากกว่ามักจะนำวิธีการสอนหรือวิธีการย่อยเนื้อหาที่ง่ายและกระชับกว่า ครูกชกรเสริมว่า เพื่อนครูยังช่วยแนะนำนวัตกรรมการศึกษาให้เราได้ก้าวทันเทคโนโลยีอีกด้วย เช่น การตรวจข้อสอบด้วย Zipgrade มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อเป็นแนวทางใหม่ ๆ สำหรับการสอนเนื้อหานั้น บางวิชาอาจมีเนื้อหาใหม่ ๆ ออกมาเสมอ เช่น วิทยาศาสตร์ กฎหมาย ครูในหมวดก็จะนำเนื้อหาใหม่เหล่านั้นมานั่งถกกันในห้องพักครู แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แชร์ความรู้กัน เพื่อนครูยังเป็นทั้งกระจกส่องตัวเอง คอยดู คอยเตือน คอยแนะนำ วิธีการสอนและวิธีการเตรียมตัวต่าง ๆ รวมถึงการเป็นกำลังใจและแรงผลักดันซึ่งกันและกัน เพื่อนครูเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ครูยังคงมีไฟและความสุขในการสอนต่อไป  

         สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ PLC ครูวิมลฉัตร เมื่อตอนยังเป็นครูอัตราจ้างหลังจากจบการศึกษาใหม่ ๆ และยังไม่ได้มีประสบการณ์การสอนมากนักมักใช้การ PLC เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง รวมถึงเป็นการช่วยปรับปรุงและพัฒนาการสอนของตัวเองด้วย ครูที่ถนัดในเนื้อหาส่วนนั้นอาจช่วยแชร์วิธีการสอนที่น่าสนใจให้กับเพื่อนครู เพื่อให้เพื่อนครูนำไปประยุกต์ใช้ภายในห้องเรียนของตัวเอง รวมถึงการช่วยกันตรวจสอบเนื้อหาที่จะนำไปสอนให้ครบถ้วนและถูกต้อง

         วิธีการเตรียมการสอนและการจัดการชั้นเรียนอาจแตกต่างกันตามประสบการณ์ของครูแต่ละท่าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อย่ายืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะนักเรียนและเพื่อนครูล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนทั้งก่อนสอน ระหว่างสอน และหลังสอน เพราะฉะนั้นลองเปิดโอกาสให้นักเรียนและเพื่อนครูได้ช่วยการเตรียมการสอนด้วย จะทำให้ชั้นเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

         สุดท้ายนี้การเปิดภาคเรียนไม่ว่าจะออนไลน์หรือออนไซต์ก็ตาม ครูควรเตรียมทั้งกาย ใจ และสื่อการสอนต่าง ๆ ให้พรั่งพร้อม และสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของนักเรียนด้วย ครูควรยึดโยงกับนักเรียนทั้งเรื่องกฎและข้อตกลงภายในห้องเรียน และวิธีการสอนที่ควรหลีกเลี่ยงการสอนแบบเน้นการบรรยาย โดยอาจเปลี่ยนไปเลือกใช้กิจกรรมภายในห้องเรียน หรือเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนด้วย หลังจากการสอนแล้ว ครูควรสอบถามนักเรียนถึงปัญหาทางการเรียน หรือข้อเสนอแนะของนักเรียน และหมั่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูที่รับผิดชอบรายวิชาเดียวกัน เพื่อปรับปรุงพัฒนาการสอนให้ดีขึ้นในทุกคาบ
         ทางทีมงาน EDUCA ขอขอบพระคุณคุณครูทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ ครูวิมลฉัตร พันธุรักษ์ ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ ครูธันว์ชนก เติมเกียรติไพบูลย์ และ ครูกชกร เกียรติศรศรี ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์ ให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีเตรียมการสอนและวิธีการจัดการชั้นเรียนมา ณ ที่นี้ด้วย


TAG: #การจัดการชั้นเรียน #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #PLC #ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ #Professional Learning Community #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้