Knowledge

เปิดพื้นที่ชมรม สู่การฝึกฝนทักษะแห่งชีวิต

เปิดพื้นที่ชมรม สู่การฝึกฝนทักษะแห่งชีวิต

 3 years ago 5799

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          “ชมรม” คือ กลุ่มคนที่มีความสนใจ และจุดประสงค์บางประการร่วมกัน มาประชุม และทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกัน .... เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชมรมดังกล่าวถูกนำมาผนวกเข้ากับหลักสูตรการศึกษา และพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาทักษะตามความสนใจ และความถนัดของตนเองมากยิ่งขึ้น

          ความหลากหลาย และเปิดกว้างของการจัดตั้งชมรมในปัจจุบัน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งมีความเหมาะสมต่อลักษณะของนักเรียนในชมรมให้มากที่สุด เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นหา และพัฒนาศักยภาพหรือจุดแข็งของตนเอง นำไปสู่การค้นพบทักษะเฉพาะตัว ความถนัดทางอาชีพ หรือแม้กระทั่งความสามารถพิเศษที่จะติดตัวและนำไปต่อยอดในการดำรงชีวิตในอนาคตได้

“การเรียนรู้ทางเลือก คือ จุดแข็งของชมรม”
          ผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า กิจกรรมชมรมที่พัฒนานักเรียนจำนวนหนึ่งโดยแบ่งตามความสามารถและความถนัดจำเพาะ ส่งผลให้พัฒนาการโดยรวมของนักเรียนดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม กิจกรรมชมรมนั้นไม่ได้พัฒนาแค่ความถนัดหรือสิ่งที่นักเรียนสนใจเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยปลูกฝังทักษะ รวมทั้งทัศนคติในการดำเนินชีวิต เช่น การปรับตัวต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง การใช้เหตุและผลในการแก้ปัญหา ความกล้าแสดงออก ความเชื่อมั่น และการมองคุณค่าในตนเองที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนอีกด้วย

          เนื่องจากกิจกรรมชมรม เปรียบเสมือนพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตัดสินใจเข้าร่วมตามความสนใจ และความถนัดของตนเอง นักเรียนสามารถใช้เวลาในคาบชมรมได้อย่างเต็มที่กับกิจกรรมที่ตนเองเต็มใจ และมองเห็นเป้าหมายของกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้น หากจะถอดบทเรียนถึงผลสำเร็จของกิจกรรมชมรม สิ่งแรกที่ไม่ควรมองข้าม คือ เป้าหมายหรือเจตนาของนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมชมรม การจะตัดสินใจเลือกเนสมาชิกชมรมใดชมรมหนึ่ง แน่นอนว่าจะต้องผ่านกระบวนการคิด และทบทวนความต้องการ ความชอบหรือความสนใจของตนเองมาแล้ว ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของชมรมหรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนักเรียนรู้ถึงความต้องการและเป้าหมายของตนเองประกอบกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความถนัดจำเพาะ แนวโน้มของการเปิดรับและตั้งใจพัฒนาตนเองจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“สร้างชมรมให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ และนันทนาการที่มีคุณค่า”
                    ด้วยเหตุผลที่ว่า นักเรียนตัดสินใจเลือกชมรมจากความสนใจและความถนัดจำเพาะของตนเป็นหลัก ประกอบกับการจัดกิจกรรมชมรมส่วนมากมักเป็นไปในทิศทางของการจัดกิจกรรมตามอัธยาศัยและช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนในชั้นเรียน จนส่งผลให้แนวทางการดำเนินกิจกรรมชมรมนั้นเกิดความคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่แท้จริง

          การจัดกระบวนการเรียนรู้ในคาบชมรมให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความสนใจของนักเรียนโดยรวมนั้น ครูที่ปรึกษาสามารถใช้วิธีการเริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีอิสระในการวางแผนเพื่อลดความตึงเครียด และการตีกรอบทางความคิด เปิดพื้นที่ให้นักเรียนนำเสนอแนวทางของการดำเนินกิจกรรมในชมรมที่นักเรียนจะรู้สึกผ่อนคลาย และเรียนรู้ในขณะเดียวกันได้ ครูและนักเรียนร่วมแลกเปลี่ยนเป้าหมายของการเข้าร่วมชมรมความคิดเห็นระหว่างกัน นำไปสู่การสร้างข้อตกลง และแผนการเรียนรู้ที่นักเรียนยอมรับร่วมกันได้ในที่สุด ซึ่งกระบวนการสร้างข้อตกลงร่วมกันนั้นอาจประสบปัญหาเรื่องความความเห็นที่ขัดแย้งในช่วงเริ่มต้น แต่ครูที่ปรึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากกระบวนการดังกล่าวในการทำความรู้จักนักเรียน สอดแทรกแนวคิดทัศนคติผ่านการสื่อสารและตั้งคำถามชวนคิดโดยใช้ประเด็นที่นักเรียนสนใจเป็นตัวช่วย นอกจากนั้นยังได้สังเกตพฤติกรรม และรับฟังความเห็นของนักเรียนแต่ละคนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพเหมาะสมและดึงดูดความสนใจอยู่เสมอ อันนำไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของสมาชิกชมรมได้อย่างราบรื่น

          ความท้าทายของการจัดกิจกรรมชมรมในยุคปัจจุบัน คือ การค้นหาแนวทางจัดการเรียนรู้ที่สามารถดึงความสนใจและความถนัดจำเพาะของนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ สร้างเสริมทักษะต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย น่าสนใจและควบคู่ไปกับความสนุกสนานได้พร้อมๆ กัน การจัดกิจกรรมโดยยึดความถนัด และความสนใจของนักเรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการจัดตั้งเป้าหมายและแนวทางร่วมกันภายในกลุ่มที่ชัดเจน นำมาสู่ความสำเร็จในการพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตของนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

ที่มา
ทวี นวมนิ่ม และ สุพรรณณี เพนวิมล. (2557). การพัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านศูนย์ระเบียงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี. PULINET Journal Vol. 1, No. 3, กันยายน - ธันวาคม 2557: pp.117-123

ปรีชา ศิริรัตน์ไพบูลย์, ธนกฤต ทุริสุทธิ์ และประจญ กิ่งมิ่งแฮง. (2562). การพัฒนารูปแบบส่งเสริมกีฬาเยาวชนของชมรมกีฬา ในสังกัดสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอุดรธานี. วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์. Vol.6, No.1, มกราคม – มีนาคม 2562


TAG: #การพัฒนาผู้เรียน #กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน #ทักษะศตวรรษที่21 #กระบวนการเรียนรู้ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21