Knowledge

Back to School ในยุค New Normal เมื่อประเทศชั้นนำทางการศึกษาเตรียมเปิดโรงเรียน

Back to School ในยุค New Normal เมื่อประเทศชั้นนำทางการศึกษาเตรียมเปิดโรงเรียน

 4 years ago 10817

แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในโลกจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้ต้องมีการปิดโรงเรียนในประเทศ และหยุดการเรียนการสอนไว้จนกว่าจะถึงหน้าร้อน ขณะที่ในหลายๆ ประเทศที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็เริ่มทยอยเปิดโรงเรียนไปเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่าโรงเรียนเหล่านี้มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง เพราะการเปิดโรงเรียนก็หมายถึงโอกาสที่ผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่โรงเรียนใช้ในการพิจารณา มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน

  1. ความแตกต่างของสถานการณ์การแพร่เชื้อ
  2. โครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข
  3. กำหนดการตารางเรียนประจำปี

          สิ่งที่ทุกโรงเรียนวางแผนคล้ายๆ กันคือ เริ่มเปิดโรงเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยก่อนหน้านั้นก็มีการจัดการเรียนรู้แบบทางไกลก่อนหนึ่งเดือน หรือนานกว่านั้น มีการจำกัดจำนวนนักเรียนในอาคารเรียน และปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ด้านสุขอนามัย สำหรับประเทศที่มีนโยบายทยอยให้นักเรียนกลับมาเรียนตามปกติได้จัดกลุ่มนักเรียนไว้เป็น 3 กลุ่มคือ

  1. นักเรียนประถมศึกษา หรือนักเรียนมัธยมต้น เพราะนักเรียนที่ยังอายุน้อยจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากห้องเรียนที่มีครู และเพื่อนร่วมชั้นจริงๆ ทั้งในแง่วิชาการ การเข้าสังคม และยังได้รับการดูแลอย่างดีจากครู เมื่อผู้ปกครองต้องกลับไปทำงานตามปกติอีกด้วย
  2. นักเรียนที่ต้องมีการเลื่อนระดับไปสู่ระดับต่อไป ในบางประเทศก็เป็นนักเรียน มัธยมปลาย (ม.6) มัธยมต้น (ม.3) หรือนักเรียนประถม (ป.6) ด้วย เพราะนักเรียนกลุ่มนี้ต้องเตรียมตัวที่จะสำเร็จการศึกษา และเข้าสู่การเรียนในระดับชั้นต่อไป หรือต้องเตรียมสอบระดับประเทศ นักเรียนที่โตแล้วมักจะให้ความร่วมมือในการทำ Social Distancing ได้มากกว่านักเรียนที่อายุยังน้อย
  3. ผสมผสานหลายๆ แนวทางกับการเน้นกลุ่มใดกลุ่มหนี่งที่มีความจำเป็นก่อน บางพื้นที่ก็ให้ความสำคัญกับนักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ นักเรียนที่มีปัญหาเมื่อเรียนรู้ทางไกล และนักเรียนอาชีวศึกษาที่ต้องฝึกภาคปฏิบัติให้ครบหลักสูตร

          หลายประเทศมีการปรับตารางเรียน ทั้งตารางเต็มวัน และตารางครึ่งวัน เพื่อทำตามมาตรการ Social Distancing โดยยังจัดให้มีการเรียนรู้ทางไกลควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียนตามปกติ เพราะแต่ละครอบครัวอาจมีข้อจำกัดในการส่งลูกหลานกลับเข้าสู่โรงเรียนที่ไม่เหมือนกัน แม้แผนการกลับมาเปิดโรงเรียนในครั้งนี้จะก่อให้เกิดคำถามอยู่บ้าง เช่น จะสนับสนุนครูที่มีนักเรียนส่วนหนึ่งมาเรียนที่โรงเรียน ขณะที่นักเรียนอีกส่วนหนึ่งยังคงเรียนทางไกลจากที่บ้านได้อย่างไร ครู Task Force และองค์การยูเนสโก ก็ได้ออกมาแนะนำแก่โรงเรียนถึง 7 วิธี ช่วยให้ครูประสบความสำเร็จ เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง ดังนี้

  1. รับฟังเสียงของครูในการกำหนดนโยบาย และแผนการ
    เพราะการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนเปิดโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหาร ครู พ่อแม่ ชุมชน รวมถึงนักเรียน ควรมีการพูดคุยกัน เพื่อให้ความต้องการของนักเรียนทุกคนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
  2. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในโรงเรียน
    ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของนักเรียนและครูคือสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเปิดโรงเรียน โรงเรียนต้องสร้างความรู้สึกอุ่นใจให้ทุกคนในในช่วงที่ยังมีการระบาดของไวรัส รวมถึงเมื่อโรคหยุดการระบาดลงแล้ว
  3. ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจ สังคมและอารมณ์ของครูและนักเรียน
    COVID-19 อาจทำให้ครู นักเรียน รวมถึงครอบครัวของทุกคนรู้สึกเครียด หากความเครียดนั้นไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยะยาวและการเรียนรู้ในภาพรวมของนักเรียนได้ สำหรับครูอาจเกิดภาวะหมดไฟในการสอน (Burnout) ทำให้ครูขาดงานบ่อยขึ้น หรือถึงขั้นลาออกจากงาน ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องให้ความมั่นใจกับครูว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เมื่อครูเกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจ
  4. ช่วยให้ครูปรับตัวเข้ากับ New Normal เมื่อกลับมาสอนในชั้นเรียนตามปกติ
    ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องได้รับการสนับสนุน และได้รับทรัพยากรที่เพียงพอในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนอีกครั้ง ครูหลายคนอาจต้องสอนซ่อมเสริมในช่วงนี้ หรือไม่ก็ต้องสอนทั้งในห้องเรียนควบคู่ไปกับการสอนออนไลน์ หรือต้องสอนหลายคาบมากขึ้น เพราะต้องลดขนาดห้องเรียนลงเพื่อทำตามมาตรการ Social Distancing
  5. จัดให้มีครูเพียงพอ และให้ครูได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
    การที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสุขกับมาตรฐานการทำงานที่เหมาะสม ได้เงินเดือนตรงตามเวลา หรือลาป่วยได้เมื่อรู้สึกไม่สบาย ถือเป็นเรื่องสำคัญในช่วงสถานการณ์นี้ ผู้บริหารไม่ควรลดสิทธิต่างๆ ของครู และเงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสมสำหรับครู
  6. ลงทุนกับภาคการศึกษา
    ในหลายๆ ประเทศ เงินเดือนครูและสวัสดิการต่างๆ ถือเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ทางเศรษฐกิจต่ำ จากวิกฤต COVID-19 ทรัพยากรที่มีอยู่อาจลดลงเมื่อรายได้ผู้คนลดลง เพื่อให้การศึกษายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายบริหารด้านการศึกษาจำเป็นต้องลงทุนกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ใช่แค่การไม่ลดเงินเดือนเท่านั้น แต่ยังต้องจัดการอบรมที่จำเป็น รวมถึงให้การสนับสนุนด้านสภาพจิตใจด้วย
  7. คอยเช็กสถานการณ์และข้อเสนอแนะจากครู
    เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนต้องคอยเช็กและประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งปรับแผนเมื่อจำเป็น กระทรวงศึกษาธิการ ฝ่ายบริหาร ผู้อำนวยการต้องเช็กและประเมินกรอบการทำงานเพื่อวัดความก้าวหน้า ซึ่งกรอบการทำงานเหล่านี้ควรคำนึงถึงบทบาทการสอนที่มีคุณภาพของครู และส่งเสริมสภาพการเรียนรู้ที่ดี โรงเรียนต้องไม่ลืมเปิดโอกาสให้ครูได้เสนอความคิดเห็น และประเมินการทำงานของโรงเรียนด้วย

          แม้ว่าในบ้านเราจะยังไม่รู้ว่าเมื่อเปิดโรงเรียนแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วงเหมือนในหลายประเทศหรือไม่ แต่สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันในช่วงสถานการณ์นี้คือ การเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของครูและนักเรียนในการเริ่มต้นเทอมใหม่ และการรับมือกับ New Normal ของการศึกษาที่เกิดขึ้น ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ของเราทุกคนให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

อ้างอิง:
Pfister, M. (1970, May 28). Global Ed Talks with Anthony Mackay: An Interview with Michael Fullan. Retrieved June 2, 2020, from http://ncee.org/2020/05/top-performers-plans-to-reopen-schools-key-trends/

Force, T., & Unesco. (2020, May 18). 7 ways to help teachers succeed when schools reopen. Retrieved June 4, 2020, from https://www.globalpartnership.org/blog/7-ways-help-teachers-succeed-when-schools-reopen


TAG: #การเรียนทางไกล #การจัดการโรงเรียน #การบริหารโรงเรียน #โควิด19 #โรคระบาดใหญ่ #COVID19