Knowledge
เปลี่ยนทัศนคติต่อวิชา IS ให้การศึกษาค้นคว้าเป็นเรื่องสนุก
9 months ago 26273อาทิตยา ไสยพร
วิชา IS เป็นทักษะพื้นฐานที่ฝึกฝนให้นักเรียนได้ใช้ทักษะการศึกษาค้นคว้า การตั้งสมมติฐานและการนำเสนอ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่การเรียนของไทยติดกรอบการเรียนรู้ที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้นักเรียนรู้สึกถูกบังคับให้ต้องเขียนรายงานส่งทุกสัปดาห์ การเป็นที่ปรึกษาของคุณครูจึงต้องช่วยเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนให้คิดว่าวิชานี้ไม่ใช่ภาระ และให้นักเรียนเห็นความสำคัญว่าวิชาค้นคว้าอิสระคือกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในอนาคต
ความสำคัญของวิชา IS เรียนแล้วได้อะไร
IS ย่อมาจาก Independent Study เป็นวิชาสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะผ่านกระบวนการ 5 ขั้น ประกอบด้วย
- IS1 คือการศึกษาและสร้างองค์ความรู้ ในส่วนของ IS1 จะประกอบด้วยบันได 3 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 การตั้งประเด็นคำถาม/สมมุติฐาน (Hypothesis Formulation) เป็นขั้นที่ให้นักเรียนฝึกสังเกตสิ่งรอบตัว ตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม รวมทั้งการคาดคะเนคำตอบ ด้วยการสืบค้นความรู้จากแหล่งต่าง ๆ
ขั้นที่ 2 การสืบค้นความรู้จากแหล่งเรียนรู้และสารสนเทศ (Searching for Information) เป็นการฝึกให้นักเรียนได้วางแผนและออกแบบการสืบค้นข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งการเรียนรู้ และนำมารวบรวมให้ได้มากที่สุด
ขั้นที่ 3 การสรุปองค์ความรู้ (Knowledge Formation) เป็นขั้นให้นักเรียนได้แปลผลข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์และสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้ - IS2 นักเรียนจะได้นำความรู้ที่ค้นคว้ามาสื่อสารและนำเสนอ เป็นบันไดขั้นที่ 4
ขั้นที่ 4 เป็นการนำความรู้ที่นักเรียนได้สืบค้นจนมีข้อสรุปมานำเสนอและถ่ายทอดผ่านการนำเสนอด้วยวิธีการที่เหมาะสม - IS3 เป็นขั้นที่ 5 เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปบริการสังคม ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์และคุณค่าทางความรู้แก่สังคม และสิ่งที่นักเรียนจะได้รับคือทักษะ Self Directed Learning การศึกษาแบบการนำตนเอง ที่ก่อให้เกิดคุณลักษณะของการเรียนรู้ที่ดี เช้า การรู้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง การคิดวางแผนอย่างเป็นระบบ การพยายามค้นคว้าหาวิธีการใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้เป็นต้น
IS น่าเบื่อ-นักเรียนไม่ชอบ คุณครูจะแก้อย่างไร
ถึงจะรู้อยู่ว่าวิชา IS เป็นวิชากระบวนการที่ก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ที่ดีตามมา แต่ก็เป็นวิชาที่เป็นยาขมสำหรับนักเรียน จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าน่าเบื่อ และไม่รู้ว่าควรจะตั้งประเด็นหรือศึกษาเรื่องอะไรดีจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้
คุณครูเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้ ซึ่งเริ่มได้ง่าย ๆ จากการให้คำปรึกษา คุณครูจะต้องเป็นที่ปรึกษากับองค์ความรู้ของนักเรียนอยู่แล้ว แต่การปรึกษาจะเกิดขึ้นได้และบรรลุผล เริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน ผ่านการสร้าง ความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกเชิงบวกในการเข้าหาและขอคำปรึกษา ต่อมาคือหาวิธีการช่วยให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ของตัวเองให้เกิดขึ้น เช่น ช่วยเหลือในการสร้างตัวอย่างคำถามเพื่อให้นักเรียนค้นคว้าชิ้นงานที่สร้างขึ้น สร้างการโต้แย้งพูดคุยในชั้นเรียน (discussion and collaboration)
วิธีการให้คำปรึกษาที่เน้นการสนับสนุนในสิ่งที่นักเรียนสนใจเชื่อว่าจะทำให้นักเรียนรู้สึกมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองไปพร้อม ๆ กับคุณครูที่ปรึกษาและก่อให้เกิดชิ้นงานหรือองค์ความรู้ที่ดีต่อสังคมในที่สุด
เมื่อนักเรียนมีอิสระที่จะเรียนรู้ รู้สึกสนุกในการค้นคว้า พร้อมได้รับคำปรึกษาและแนวทางที่ดีในการสร้างสรรค์ชิ้นงานของตนเอง วิชา IS ก็จะไม่ใช่วิชาที่เปรียบเสมือนภาระของนักเรียนแต่จะเป็นวิชาที่เป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และคิดนอกกรอบได้อย่างอิสระพร้อมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าออกสู่สังคม
แหล่งอ้างอิง
Cedefop. (n.d.). One-to-one support through coaching or mentoring. https://www.cedefop.europa.eu/en/tools/vet-toolkit-tackling-early-leaving/intervention-approaches/one-one-support-through-coaching-or-mentoring
Vinikas, I. (2023, July 20) Independent Learning: What It Is and How It Works. Kaltura blog https://corp.kaltura.com/blog/independent-learning/
จิราพร เณรธรณี. (2566, 2 มีนาคม). จากแรงบันดาลใจสู่ “ชิ้นงาน” ที่สร้างคุณค่า : IS (Independent Study). EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/606
ฟาฏินา วงศ์เลขา. (2555, 3 ธันวาคม). บันได 5 ขั้น สู่รายวิชา IS : การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง. Thaischool. http://www.educationnews.in.th/25015.html
เสาวภา วิชาดี. (ม.ป.ป.) การปรับวิธีการเรียนเปลี่ยนวิธีสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะ การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของผู้เรียน. https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/april_june_12/pdf/aw018.pdf
Nanthapak Mekham. (2563, 12 กรกฎาคม). รู้จัก IS ผ่านบันได 5 ขั้น. www.yesk.co/รู้จัก-is-ผ่านบันได-5-ขั้น/