Knowledge
“Hello World, I am AI.”: AI คืออะไร ครูไทยต้องรู้ !
1 year ago 3057สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
ในปี 1956 John McCarthy ได้ให้คำนิยามของ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ไว้ว่า AI คือ “ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่สร้างความฉลาดให้กับเครื่องจักร” ส่วน Britannica ให้คำนิยามโดยสรุปว่า “ความสามารถของคอมพิวเตอร์ดิจิทัลหรือหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานแทนมนุษย์อย่างเฉพาะเจาะจง” และเป็นที่รู้จักในทุกวงการ ปัจจุบัน AI แบ่งประเภทได้ 2 ลักษณะด้วยกัน คือใช้ความสามารถ และลักษณะการทำงานของ AI เป็นเกณฑ์ มีรายละเอียดดังนี้
1. ใช้ความสามารถของ AI เป็นเกณฑ์ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.1 Narrow AI คือ AI ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง และไม่สามารถนำ Narrow AI ไปใช้ทำงานนอกเหนือจากที่ฝึกมาได้ เช่น Siri ใน Apple เราสามารถใช้ Siri เพื่อเปิดเพลงหรือหาข้อมูลใน iPhone ได้แต่เราไม่สามารถใช้ Siri เปิดเพลงใน Samsung ได้ เพราะ Siri ไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้กับ iPhone ปัจจุบันทั่วโลกใช้ Narrow AI ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย เพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทำให้ผลิต AI ประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น
1.2 General AI คือ AI ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีสติปัญญาและประสิทธิภาพในการทำงานเหมือนมนุษย์ และ ณ ขณะนี้การสร้าง General AI ยังอยู่ในขั้นกำลังศึกษา เนื่องจากต้องใช้เวลามากและต้นทุนสูง เพราะต้องการให้ General AI มีความคิดความอ่านและการทำงานเหมือนมนุษย์
1.3 Super AI คือ AI ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีสติปัญญาและประสิทธิภาพเหนือมนุษย์ รวมถึงมีจิตใต้สำนึกที่ตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ เช่น การใช้เหตุผลที่น่าเชื่อถือ การวางแผน และการตัดสินข้อพิพาทต่าง ๆ AI ประเภทนี้ถือเป็นเส้นชัยของการพัฒนา AI และถ้าหากโลกก้าวหน้าไปจนถึงจุดที่พัฒนา Super AI ได้แล้ว อาจเป็นมนุษย์เองที่ต้องพัฒนาให้ตัวเองทัดเทียมกับ Super AI
2. ใช้ลักษณะการทำงานของ AI เป็นเกณฑ์ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 Reactive Machines เป็น AI ขั้นพื้นฐานที่ตัดสินใจด้วยการนำข้อมูลเฉพาะหน้ามาประมวลผลเท่านั้น AI ประเภทนี้ไม่มีหน่วยความจำหรือข้อมูลย้อนหลังเพื่อใช้ตัดสินใจ ทำให้การทำงานของ Reactive Machines เป็นการตัดสินใจแบบ case by case เช่น การให้ตัวเลือกที่แนะนำใน Netflix ถ้าเทียบกับมนุษย์ก็เหมือนกับการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณนั่นเอง
2.2 Limited Memory เป็น AI ขั้นถัดมาที่จำและเก็บข้อมูลได้บ้าง ประสิทธิภาพการตัดสินใจของ Limited Memory ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป AI ประเภทนี้มีวิธีการเรียนรู้เป็นของตัวเอง ทั้งนี้ AI ประเภทนี้ไม่สามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ได้ และเรียนรู้ได้เฉพาะข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไปเท่านั้น ถ้าเทียบกับมนุษย์ AI ประเภทนี้ก็เหมือนกับการเรียนรู้ผ่านการท่องจำ นั่นเอง
2.3 Theory of Mind เป็น AI ขั้นถัดมาที่กำลังอยู่ในขั้นพัฒนา AI ประเภทนี้ต่างกับ 2 ประเภทแรกที่มี “การมีชีวิตจิตใจ” และ “การตระหนักรู้ตนเอง” (self – awareness) เพื่อให้ AI ประเภทนี้ตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณและเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ เช่น หาก AI เข้าใจหรือรับรู้ได้ว่ามนุษย์หิว AI อาจนำของว่างมาให้ หากมนุษย์เรียนรู้สังคมด้วยการเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น AI ประเภทนี้ก็อาจเข้าใจสังคมของมนุษย์ด้วยการเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน
2.4 Self – awareness เป็น AI ขั้นสุดท้ายที่เป็นเสมือนเส้นชัยอีกเส้นหนึ่งของการพัฒนา AI สิ่งที่แตกต่างกับ Theory of Mind คือ AI ลักษณะนี้จะรับรู้การมีตัวตนและอารมณ์ของมนุษย์เท่านั้น แต่ AI ขั้นท้ายนี้นักพัฒนาคาดหวังให้ AI รับรู้การมีตัวตนและมีอารมณ์เป็นของตัวเอง เช่น AI รับรู้ว่าตนเองกำลังโกรธหรือเสียใจ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ AI ต้องตอบสนองด้วยอารมณ์นั้น
สรุปได้ว่า ในปัจจุบัน AI ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการสร้างโปรแกรมและป้อนข้อมูลเพื่อให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเรามองในอนาคตถึงเป้าหมายสูงสุดของ AI นั่นคือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถเหนือมนุษย์และการรับรู้ตนเองเหมือนมนุษย์ จะเห็นได้ว่าเส้นทางการพัฒนาของ AI ยังอีกยาวไกลมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพียงแค่จะสำเร็จช้าหรือเร็วก็เท่านั้น
คำถามที่ว่า “ทำไมครูไทยต้องรู้และก้าวให้ทัน AI” สามารถตอบได้ด้วยปรากฏการณ์การเกิด ChatGPT ที่สั่นสะเทือนวงการการศึกษาทั่วโลก เพราะเทคโนโลยี AI นี้เป็นอัจฉริยะด้านภาษาที่สามารถเขียนเรียงความ คำโฆษณา ตลอดจนเขียนโค้ดพื้นฐานทำให้เป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ของทั้งครูและนักเรียนทั่วโลก แต่ก็อาจเกิดข้อผิดพลาดอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะ AI ประเภทนี้เป็นเพียง Narrow AI ที่ประมวลผลด้วย Limited Memory เท่านั้น เรียกได้ว่า ChatGPT เป็นเพียงเศษของความสามารถที่ AI ตัวหนึ่งจะทำได้ในอนาคต ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ครูไทยต้องเริ่มขึ้นขบวน AI และใส่ใจกับ AI มากขึ้น เพราะความสามารถของ AI นั้นเป็นประโยชน์อนันต์ แต่ก็อาจเป็นอุปสรรคใหญ่เช่นกันหากครูไม่ยอมปรับตัวจนตกขบวน AI นี้ในที่สุด
แหล่งอ้างอิง
ณัฏฐ์ อรุณ. (2554). ปัญญาประดิษฐ์กับการประยุกต์ใช้งาน. https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/oct_dec_10/pdf/aw25.pdf
Coursera. (2023, January 12). 4 types of AI: Getting to know Artificial Intelligence. https://www.coursera.org/articles/types-of-ai
Kelley, K. (2023, March 9). What is Artificial Intelligence: Types, history, and future. Simplilearn. https://www.simplilearn.com/tutorials/artificial-intelligence-tutorial/what-is-artificial-intelligence
Reynoso, R. (2022, November 22). 7 major types of AI that can bolster your decision-making. G2 https://www.g2.com/articles/types-of-artificial-intelligence