Knowledge
จากผู้ให้ความรู้ เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้
4 years ago 10975เรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เมื่อโลกปรับเปลี่ยนไว บทบาทจึงเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเทคโนโลยี ได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งสะดวกมากขึ้น เข้าถึงง่ายมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งถูกนำไปปรับใช้ตามสาขาอาชีพต่างๆ
ประเด็นที่สำคัญของการศึกษาคือเมื่อช่องทางการเรียนรู้มีอยู่อย่างหลากหลาย นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว และง่ายกว่ายุคก่อนๆ แต่ในขณะเดียวกันนักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังคงเรียนรู้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแบบเดิมหรือเพียงรูปแบบเดียว ซึ่งปัญหาอาจมีหลายปัจจัย สิ่งสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจให้พวกเขาสนใจ และใช้เทคโนโลยีที่ดีมากขึ้นในการพัฒนาได้ด้วยตนเอง
จากผู้ให้ความรู้ เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้
คำถามคือ การกระตุ้นการเรียนรู้ถูกนำมาใช้อยู่แล้วหรือไม่ คำตอบคือมีการนำมาปรับใช้ในการเรียนอยู่เสมอ เมื่อเรามองย้อนกลับไปในสถานการณ์ที่สถานศึกษาเปิดทำการได้ปกติ (ก่อนวิกฤต COVID-19) นักเรียนถูกกระตุ้นให้มีการเรียนรู้โดยวิธีการสอนของครูผู้สอน และสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่ดีเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ปัญหาของการศึกษาไทยคือการเรียนรู้ที่เก่า และไม่ค่อยมีการพัฒนารูปแบบการเรียนใหม่แบบจริงจัง ชวนคิดถึงภาพสมัยที่พวกเราเรียนอยู่ในระบบการศึกษา เรามองเห็นสิ่งใดที่จำเป็น และสิ่งใดไม่จำเป็น หรือมีอะไรที่เกินความจำเป็นไปหรือไม่ รวมถึงวัฒนธรรมต่อการ “สั่ง”สอน ในสังคมไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดภาวะเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ลดทอนแรงบันดาลใจในการเรียนของนักเรียน หรือทำให้พวกเขามีกระบวนการเรียนรู้ที่ช้ากว่าปกติ
จากครูผู้ที่เคยนิยามว่าเป็น “ผู้ให้ความรู้” เพียงอย่างเดียว ลองชวนให้ปรับเปลี่ยนมุมมองเป็น “ผู้กระตุ้นการเรียนรู้” คำนี้จะทำให้คำว่า “ครู” มีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากในอดีต ผลักดันให้ครูมองว่า การเรียนรู้ของนักเรียน สามารถเกิดขึ้นได้จากการกระตุ้น โดยผ่านปัจจัยต่างๆ ที่นอกเหนือจากเนื้อหาที่ครูสอน เช่น
กระตุ้นโดยการสร้างรูปแบบการเรียนใหม่
สภาวะการเรียนรู้ของนักเรียนจะดีขึ้น เมื่อพวกเขามีสภาพจิตใจและร่างกายที่สดใส และไม่เหนื่อยล้าสะสม ดังนั้นสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็น หลายๆ อย่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพ จิตใจ ร่างกาย ของผู้เรียนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สภาพห้องเรียน รูปแบบการสอน การเลือกใช้คำพูดของครู ซึ่งตัวแปลภายนอกอย่าง สถานที่ ห้องเรียน เป็นส่วนที่ซับซ้อนน้อยกว่าในการปรับเปลี่ยน
เมื่อพูดถึงรูปแบบหรือวิธีการสอนในปัจจุบัน อาจต้องเริ่มมีการคิด และพูดถึงเพิ่มเติมถึงสภาวะทางความคิดของผู้เรียน ครูต้องเข้าใจผู้เรียนมากขึ้น เนื้อหาการสอนอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจเพียงสิ่งเดียวอีกต่อไป วิธีการพูดหรือการยกตัวอย่าง และการสร้างสภาวะในตัวผู้เรียนที่ผ่อนคลายหรือเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการเครียด เกิดขึ้นระหว่างเรียนเกิดขึ้นมากนัก แต่ยังเป็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความท้าทายที่มีความหมาย
กระตุ้นโดยการเล่าเรื่องเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ
การเล่าชีวประวัติของบุคคลที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ เรื่องสั้นต่างๆ หรือการยกตัวอย่างเหตุการณ์ เปรียบเสมือนการสร้างเรื่องราวให้พวกเขาได้จินตนาการตามเรื่องราวเหล่านั้น สิ่งนี้จะทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ทั้งวิธีการ อุปสรรค การแก้ปัญหาและแรงบันดาลใจ เมื่อเล่าเรื่องราวครบถ้วน ควรมีการแสดงภาพ คุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลเหล่านั้น แสดงให้ผู้เรียนเห็นว่า คุณค่าที่เกิดขึ้นตรงกับความหมายของคุณค่าชีวิตกับเป้าหมายในอนาคตของพวกเขาหรือไม่ เช่น การเห็นคุณค่าของตนเองเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นสำเร็จ การได้มีความสุขจากรอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราได้สร้างขึ้น เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่เรื่องคุณค่าของอาชีพหรือสิ่งที่ทำ อาจจะเป็นสิ่งที่พูดถึงกันน้อยมาก ในยุคที่ทุกคนให้คุณค่าเรื่องผลตอบแทน และปลายทางของการศึกษาก็เป็นไปเพื่อผลตอบแทนนั้น ในขณะที่คุณค่าด้านอื่นอาจค่อยๆ จางหายไป
กระตุ้นการสร้างองค์ความรู้ และการเรียนรู้ใหม่โดยการปลูกฝังนิสัยความอยากรู้อยากเห็น
ผู้เรียนที่ยังขาดประสบการณ์หรืออยู่ในช่วงวัยที่อายุยังน้อย อาจยังขาดทักษะที่พวกเขาจะใช้เพื่อคิด และตั้งคำถามที่มีความหมาย ดังนั้นครูควรมีหน้าที่เป็นแบบอย่าง และสร้างคำถามให้เห็นในห้องเรียนยิ่งมากยิ่งดี
- คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กล่าวว่า “พี่ไม่อยากให้เชื่ออะไรง่ายๆ อยากให้ตั้งคำถาม พี่ว่าจุดเริ่มต้นของทุกๆ อย่าง คือการตั้งคำถาม คือการอยากรู้อยากเห็น ไอน์สไตน์เคยพูดว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ แต่พี่เชื่อว่าความอยากรู้สำคัญกว่าความรู้ แต่จินตนาการก็ยังสำคัญ ซึ่งสมัยนี้ความรู้หาได้ง่ายมาก ค้นข้อมูลในกูเกิ้ลก็เจอเป็นล้าน ๆ ข้อมูล แต่คำถามคือคุณจะใช้มันหาความรู้หรือเปล่า”
เมื่อเราสามารถช่วยให้นักเรียนตั้งคำถามได้มากขึ้น ดีขึ้น และเมื่อช่องทางที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น นักเรียนจะมองหาแหล่งข้อมูลที่จะตอบคำถามที่พวกเขามีต่อสิ่งต่างๆ และแน่นอนเมื่อนั้นเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ และเป็นสิ่งที่จะนำพาเขาไปสู่เส้นทางที่พวกเขาอยากจะเป็นได้ แต่ในขณะเดียวกันครูก็ยังคงมีหน้าที่ที่สำคัญมากๆ ในการคอยช่วยเหลือทั้งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ทั้งการใช้วิจารณญาณสำรวจแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงการออกแบบพื้นที่ให้นักเรียนได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์กับชีวิตของนักเรียนมากขึ้นต่อไป
อ้างอิง:
อยากเก่งต้อง 'ฟังเก่ง' ตัวเต็ม เคน นครินทร์ (2020, April 24) retrieved 2020, June 17 from https://www.youtube.com/watch?v=GSLZcWu4M3E
Education Technology กับการยกระดับการศึกษาของประเทศไทย retrieved 2020, June 17 from https://www.learn.co.th/education-technology-กับการยกระดับการศึก/
การสอนแบบทันสมัย และเทคนิควิธีการสอนใหม่ ขันธ์ชัย อธิเกียรติ, ธนารักษ์ สารเถื่อนแก้ว retrieved 2020 June 17 from http://regis.skru.ac.th/RegisWeb/webpage/addnews/data/2017-07-24_078.pdf
ปัญหาการศึกษาไทย มุ่งผลิดผู้ตามห้ามคิด ยิ่งเรียนยิ่งเหลื่อมล้ำ (2019, March 22) retrieved 2020 17 June from https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1525805