Knowledge

สอนศิลปะอย่างไรให้สร้างแรงบันดาลใจ

สอนศิลปะอย่างไรให้สร้างแรงบันดาลใจ

 1 year ago 4202

อาทิตยา ไสยพรเรียบเรียง

          ศิลปะเป็นมากกว่าทฤษฎี เพราะแฝงไปด้วยความคิดและจิตวิญญาณของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ในการสอนศิลปะในโรงเรียนจึงต้องสร้างบรรยากาศ และแรงบันดาลใจที่ดี เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่า และมีความหมายขี้นมา แล้วคุณครูศิลปะจะออกแบบการสอนที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการสร้างผลงานศิลปะของนักเรียนได้อย่างไร บทความนี้ขอเสนอไอเดียง่าย ๆ ในการสอนศิลปะที่ทำได้ และใช้ได้จริง

5 วิธีออกแบบการสอนวิชาศิลปะให้เกิดแรงบันดาลใจ
วิธีที่ 1 ให้นักเรียนได้เลือกงานศิลปะที่สนใจด้วยตัวเอง โดยมีหลักเกณฑ์ให้นักเรียนตอบคำถามเกี่ยวกับงานที่เลือก 3 อย่าง คือ
1) งานศิลปะนี้สร้างแรงบันดาลใจต่อตนเองอย่างไร
2) นักเรียนเคยมีประสบการณ์ทำงานศิลปะแบบนี้หรือไม่
3) เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียนหรือไม่
          การถามคำถาม 3 ข้อนี้จะช่วยให้คุณครูได้รับรู้ในสิ่งที่นักเรียนสนใจ และสามารถให้คำแนะนำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนนำไปต่อยอดชิ้นงานของตนต่อไปได้

วิธีที่ 2 คิดโจทย์ศิลปะที่ท้าทาย และน่าสนใจ ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องมอบหมายงานโดยยึดตามหนังสือ ลองคิดโจทย์งานศิลปะที่ท้าทายให้พวกเขานักเรียน โดยอยู่ในขอบเขตของเนื้อหาที่เรียนแต่ยึดโยงกับชีวิตประจำวันของพวกเขาก็ได้ หรืออาจมีการเชิญวิทยากรมาพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน จะทำให้บทเรียนน่าสนใจมากขึ้น

วิธีที่ 3 สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในบทสนทนา การสอนแบบบรรยายอย่างเดียวทำให้วิชาศิลปะน่าเบื่อ การมอบหมายให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการวิพากษ์งานจะทำให้คาบเรียนสนุกยิ่งขึ้น โดยในขณะที่สอนให้คุณครูนำเสนองานศิลปะ จากนั้นเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยใช้ตั้งคำถามปลายเปิดเป็นหลัก นอกจากนักเรียนจะได้มีส่วนร่วมผ่านการถาม-ตอบคำถามแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาในบทเรียนได้อย่างไม่น่าเบื่ออีกด้วย

วิธีที่ 4 ยืดหยุ่นการใช้เทคโนโลยีในการสร้างงานศิลปะ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างมาก ศิลปะไม่ได้มีเพียงดินสอ สี และกระดาษ แต่ยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่นักเรียนสามารถนำมาสร้างสรรค์งานศิลปะได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง เกมวาดรูปที่โด่งดังและสนุกสนานอย่าง Gartic Phone วิธีเล่นของเกม Gartic phone ตัวเกมมีหลายหมวดให้เลือกสร้างสรรค์ใช้งาน คุณครูสามารถนำมาประยุกต์ได้โดยให้นักเรียนวาดภาพเล่นร่วมกันในชั้นเรียน ทั้งให้วาดเลียนแบบ วาดรูป/ตั้งชื่อส่งต่อเป็นทอด ๆ สร้างแอนิเมชันอย่างง่าย วาดเล่าเรื่องต่อกัน และอื่น ๆ หลังจากวาดครบทุกคนจะขึ้นผลงานของแต่ละคนว่า วาดออกมาเป็นอย่างไร เหมือนต้นฉบับหรือจะแปลกแหวกแนวจากต้นฉบับ ถือว่าเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงฝีมือได้อย่างสนุกสนาน

วิธีที่ 5 เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียน ถ้าเป็นไปได้ และมีเวลา ให้พานักเรียนไปที่พิพิธภัณฑ์หรือ gallery เพื่อชมผลงานศิลปะของจริง จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการดูบนหน้าจออย่างมาก หากที่ตั้งโรงเรียนไม่มีพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ลองหางานศิลปะท้องถิ่นให้นักเรียนเข้าชมแทน เท่านั้นยังไม่พอนอกห้องเรียนไม่ได้มีเพียงสถานที่จัดงานศิลปะเพียงเท่านั้น อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเรียนรู้นอกห้องเรียนได้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีการแสดงนิทรรศการในระบบออนไลน์มากมาย เพียงแค่คลิกเดียวก็สามารถรับชมงานศิลปะได้ทั่วทุกมุมโลก ตัวอย่างเว็บไซต์ที่คุณครูสามารถพานักเรียนชมงานศิลปะจากทั่วโลก เช่น Google Arts & Culture, Van Gogh Museum, Musée du Louvre, British Museum และ The Vatican Museum

          5 วิธีการออกแบบการสอนวิชาศิลปะข้างต้น เป็นแนวทางที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับห้องเรียนของตนเองได้ เกิดประโยชน์กับนักเรียนในฐานะผู้สร้างสรรค์และชื่นชมผลงานศิลปะมากมาย โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต จึงขอเชิญชวนคุณครูศิลปะมาสร้างห้องเรียนศิลปะที่แตกต่างสู่การสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนของเรากัน

อ้างอิง
BKK.EAT. (2021, 31 มีนาคม). ออกสำรวจโลกแห่งศิลปะผ่าน 5 เว็บไซต์ ที่เปิดให้ชมศิลปะแบบออนไลน์ได้เสมือนจริง. BKK. https://www.bkkmenu.com/eat/stories/virtual-museum-tours-to-explore.html

Champ chanawit. (2021, 3 กันยายน). ห้องเรียนออนไลน์สุดฮาด้วยเกมส์วาดรูป garticphone. Inskru. https://inskru.com/idea/-MifqLcHuNLUlb8YROI4

Cox, J. (2019, August 16). 10 ways to keep your class interesting: Teaching strategies to make your class more fun. ThoughtCo. https://www.thoughtco.com/ways-to-keep-your-class-interesting-4061719

Giardina, N. (n.d.). 5 steps to teaching with works of art. TeachThought. https://www.teachthought.com/pedagogy/teaching-with-art/


TAG: #ศิลปะ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนนรู้ #แรงบันดาลใจ