Knowledge

ฟินแลนด์กับงานวิจัยสร้างครูที่มีทักษะสูงที่สุดในโลก

ฟินแลนด์กับงานวิจัยสร้างครูที่มีทักษะสูงที่สุดในโลก

 4 years ago 4891

แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เมื่อพูดถึงประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก แน่นอนว่าทุกคนคงนึกถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นบ้านเกิดของซานตาครอสอย่าง “ฟินแลนด์” ข้อมูลด้านการศึกษาเปิดเผยว่า นักเรียนที่อยากจะเรียนต่อด้านครุศาสตร์ที่นี่จะต้องฝ่าฟันกับอัตราการแข่งขันที่สูงลิบ เพราะจะมีนักเรียนเพียง 1 คน ต่อ 10 คน เท่านั้นที่จะได้รับการคัดเลือกได้เข้าเรียนต่อ แม้จะมีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก และเงินเดือนเฉลี่ยของครูฟินแลนด์ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายอาชีพ อย่างไรก็ตาม “วิชาชีพครู” ได้รับการยกย่องจากสังคมฟินแลนด์ และมีคุณค่ามากในสายตาคนรุ่นใหม่ โดยผลสำรวจในปี 2013 บอกว่า 90% ของครูฝึกหัดก็ยังคงมีอาชีพเป็นครูไปตลอดช่วงชีวิตการทำงาน

          รัฐบาลฟินแลนด์วางแผน บ่มเพาะ และพัฒนาครูอย่างไร จึงทำให้กลายเป็นประเทศที่ทั่วโลกต่างยกย่องในฐานะประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก เรามาดูหนึ่งในโครงการวิจัยทางการศึกษาของที่นี่กัน

การวางเป้าหมายที่ชัดเจน
ภาครัฐตั้งเป้าหมายในภาพรวมสำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษาไว้ 3 ข้อด้วยกัน คือ

  1. มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
  2. มีคุณครูที่มีความสามารถสูงที่สุดในโลก
  3. วัฒนธรรมการทำงานที่มีชุมชนการเรียนรู้เป็นพื้นฐาน

          สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ภายในโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2015-2019 คือ Tutor Teacher ซึ่งรัฐบาลของประเทศฟินแลนด์ได้ทุ่มงบไปถึง 23 ล้านยูโรในการสนับสนุนกิจกรรมนี้

ทำไมต้องมี Tutor Teacher
กิจกรรมนี้มีเป้าหมายอยู่หลักๆ 3 ข้อคือ

  1. ให้การสนับสนุนการฟื้นฟูศาสตร์การสอน และส่งเสริมการเรียนการสอนแบบดิจิทัล
  2. พัฒนาผู้เชี่ยวชาญและการสอนร่วมกันในชุมชนการเรียนรู้
  3. ฟื้นฟูวัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน และการนำพื้นฐานหลักสูตรการเรียนการสอนไปลงมือปฏิบัติจริง

Tutor Teacher ต้องทำอะไรบ้าง
          สิ่งที่ Tutor Teacher ทำคือ คอยสนับสนุนและฝึกสอนเพื่อนครู โดยเน้นสอนทักษะทางด้านดิจิทัลเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ในองค์รวม นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการร่วมสอน ผลักดัน และสนับสนุนเรื่องพื้นฐานต่างๆ ของหลักสูตรการเรียนการสอนฉบับใหม่ด้วย

มีการประเมินผลกิจกรรมด้านไหนบ้าง
          งานวิจัยระดับประเทศนี้มีการประเมินหลายระดับ นอกจากระดับประเทศแล้ว ยังมีระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นด้วย แต่ละระดับก็จะมีจุดเน้นที่ต่างกัน อย่างในระดับประเทศก็จะเน้นที่บทบาทของการให้แนวทาง และนโยบายด้านการศึกษา ในระดับภูมิภาคจะเน้นที่การเป็นผู้จัดการเรียนการสอน และการจัดการสถาบันทางการศึกษาในส่วนกิจกรรมการฝึกสอนต่างๆ และสุดท้ายในระดับท้องถิ่นจะให้ความสำคัญกับ Tutor Teacherในเรื่องแนวทางการปฏิบัติ และความชำนาญของ Tutor Teacher
          เรายังรอต้องกันอีกสักพักว่า ผลสรุปของงานวิจัยนี้จะเป็นอย่างไร เพราะโครงการนี้มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ผลิปี 2021 ซึ่งฟินแลนด์คาดว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า Tutor Teacher มีส่วนช่วยครูฟินแลนด์เป็นครูให้มีทักษะทางด้านดิจิทัล ในการจัดการเรียนรู้สูงได้ดีขึ้นอย่างไร และส่งผลต่อนักเรียนฟินแลนด์อย่างไร แต่สิ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญ คือ แม้แต่ประเทศที่ได้ชื่อว่าจัดการศึกษาดีที่สุดก็ไม่เคยหยุดยั้งการพัฒนาครูของตนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ที่ถาโถมสู่โลกการศึกษา

อ้างอิง:
Häkämies, Kirsi (2019, December 9). Tutor teachers – developers of the school community. Retrieved May 11, 2020, from https://jyunity.fi/en/science-news/tutor-teachers-developers-of-the-school-community

Finland: Teacher and Principal Quality. Retrieved May 27, 2020, from http://ncee.org/what-we-do/center-on-international-education-benchmarking/top-performing-countries/finland-overview/finland-teacher-and-principal-quality


TAG: #ครุศึกษา #การบริหารจัดการโรงเรียน #การพัฒนาวิชาชีพครู #ชุมชนแห่งการเรียนรู้ #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21